ประตูสู่การส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ
ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับภัยคุกคามและความท้าทายที่รุนแรงในหลากหลายรูปแบบ และส่งผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่โรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ไปจนถึง Disruptive Technology และวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นบททดสอบความสามารถในการปรับตัวของสังคม ประเทศชาติ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านความมั่นคงเนื่องจากผู้คนในสังคมต่างเฟ้นหาความมั่นคงของตนบนพื้นฐานของอัตลักษณ์ที่วิวัฒน์ขึ้นใหม่ ทำให้รัฐต้องเผชิญกับความยุ่งยากมากขึ้นในการสนองตอบตามความต้องการ และความคาดหวังของผู้คนในสังคมที่มีความเป็นการเมืองมากขึ้นมีความเชื่อมโยง และบูรณาการการใช้ข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่งผลให้ลดทอนความสำคัญของสถาบันหลักและระบบดั้งเดิมลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความร่วมมือระหว่างประเทศอันเกิดจากการมีภัยคุกคามร่วมกัน ดังนั้นความมั่นคงของรัฐจึงไม่สามารถจำกัดอยู่ที่ความมั่นคงทางทหารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ยุทโธปกรณ์มากมายจึงได้ถูกคิดค้นขึ้นให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในส่วนของกองทัพเท่านั้น แต่ได้ถูกนำไปใช้ในด้านอื่น ๆ กันอย่างแพร่หลาย (Dual–Use Technology) ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในการรับมือจากภัยคุกคามทุกรูปแบบนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพื่อช่วยในการพิทักษ์รักษาอธิปไตย ปกป้องผลประโยชน์ และความมั่นคงของชาติ ตลอดจนดูแลความสงบสุขของประชาชน ให้พ้นจากภัยคุกคามในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผ่านมาคงเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยของเรานั้นได้จัดหายุทโธปกรณ์ต่าง ๆ จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียงบประมาณ และขาดดุลทางการค้าเป็นจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมากระทรวงกลาโหมโดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และเหล่าทัพได้ร่วมมือกันผลักดันการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อการพึ่งพาตนเอง และลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์ ด้วยการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาต้นแบบยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อส่งมอบให้เหล่าทัพได้นำไปทดสอบ และทดลองใช้งานตามมาตรฐานที่กำหนด ก่อนจะนำเข้าประจำการ ทั้งนี้เมื่อมีความต้องการมากขึ้นก็จะนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาพัฒนาถ่ายทอดไปสู่ภาคเอกชนที่มีขีดความสามารถและศักยภาพ เพื่อผลิตไว้ใช้งานในกองทัพ และสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อการส่งออกได้ในที่สุด อย่างไรก็ดีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนั้นมีต้นทุนในการดำเนินการค่อนข้างสูงมาก และต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อีกทั้งยังมีตลาดที่ค่อนข้างจำกัดทั้งภายในและต่างประเทศ หากไม่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนการลงทุนโดยภาครัฐอย่างจริงจัง อาจทำให้ยากที่จะประสบความสำเร็จ และไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านความมั่นคงจากต่างประเทศได้
สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. เป็นหน่วยงานตามพระราชบัญญัติเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ศ. 2562 มีหน้าที่และอำนาจในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมไปถึงสามารถจัดตั้งนิติบุคคล การเข้าร่วมทุน ถือหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ ในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานอื่นของรัฐ รวมถึงภาคเอกชนในการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ด้วยเหตุนี้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจึงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในการผลิตยุทโธปกรณ์ โดยสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกอุตสาหกรรมความมั่นคงนั้น สทป. เป็นองค์การมหาชนเพียงรายเดียวในประเทศที่สามารถดำเนินกิจการดังกล่าวได้ อีกทั้งรัฐบาลยังได้กำหนดให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษอันดับที่ 11 (S-Curve 11) และได้ออกนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี โดยไม่กำหนดวงเงิน การยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อการส่งออก เป็นต้น นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พิจารณาความเหมาะสมความเป็นไปได้ในการจัดเตรียมพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อเป็นศูนย์รวมกำลังการผลิตเพื่อการแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยคาดหมายว่าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (Defense Industry) จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพขนาดใหญ่ในอนาคต ดังนั้น สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศจะต้องเร่งยกระดับขับเคลื่อนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ด้วยการบูรณาการทุกภาคส่วนผลักดันให้เกิดต้นแบบยุทโธปกรณ์ที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาที่ตรงตามความต้องการของกองทัพ และมีมาตรฐานได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งจะต้องสามารถนำเอาต้นแบบยุทโธปกรณ์ไปขยายผลเชิงพาณิชย์ในขั้นอุตสาหกรรมเพื่อเข้าสู่สายการผลิต รวมทั้งมีการให้บริการหลังการขายเพื่อเป็นหลักประกันให้เกิดความมั่นใจและความต่อเนื่องในการใช้งาน หรือสามารถซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์เพื่อยืดอายุการใช้งานและต่อยอดเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับภารกิจของกองทัพในห้วงเวลา อันจะส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศได้อย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงาน และการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ อันจะช่วยทำให้มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการขยายตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier) ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผลประโยชน์ของชาติในเชิงบวก ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้ผลักดันให้เกิดโครงการร่วมทุนในกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศสำเร็จแล้วจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการอากาศยานไร้คนขับ (UAV) โครงการอาวุธและกระสุน และโครงการยานเกราะล้อยางแบบ 4X4 นอกจากนี้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศกำลังเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินโครงการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมตามเทคโนโลยีเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศยินดีที่จะร่วมมือ และสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความสนใจหรือมีขีดความสามารถและศักยภาพ มาร่วมดำเนินกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงภายในประเทศและก่อให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ลดการนำเข้า มุ่งเป้าการส่งออก นำมาซึ่งผลประโยชน์ของชาติและความภาคภูมิใจในความสามารถของคนไทย นอกจากจะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในด้านการทหารแล้วยังเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในอนาคตได้อย่างยั่งยืนตลอดไป