วว. ร่วมแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด เพิ่มมูลค่า “ลำไย” ด้วยเทคโนโลยีพร้อมใช้ ตอบโจทย์ประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศ ยกทัพเทคโนโลยีพร้อมใช้ร่วมแก้ปัญหาผลผลิตลำไยล้นตลาด ระบุเป็นนวัตกรรมตอบโจทย์เกษตรกร ผู้ประกอบการ พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงสังคมและพาณิชย์ สู่การกระจายรายได้ ความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างทั่วถึง
ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ลำไยเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญที่รัฐบาลจัดให้อยู่ในกลุ่มสินค้าเพื่อการส่งออก โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และประเทศแถบยุโรป ทั้งนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกลำไยกระจายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แหล่งปลูกที่สำคัญคือ จังหวัดทางภาคเหนือตอนบน จากการส่งเสริมการปลูกทำให้ปริมาณลำไยสดมีปริมาณมากในฤดูกาลผลผลิต ส่งผลให้ราคาตกต่ำ ดังนั้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตจึงมีการนำลำไยที่เหลือจากการขายสดมาแปรรูป สร้างมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาสำหรับบริโภคภายในประเทศ วว. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและพัฒนาของประเทศมีความพร้อมในเทคโนโลยีพร้อมใช้ ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวและเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรไทย ผู้ประกอบการ ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศและพื้นที่ ให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ บริการใหม่ และเกิดคุณค่าใหม่ ซึ่งจะทำให้มีการกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง ดังนี้
เครื่องมือช่วยเก็บลำไย ทำงานโดยใช้แรงบีบ ไม่ใช้กำลังมอเตอร์ ประกอบด้วยแขนต่อช่วยเก็บลำไยและรถกระเช้าเก็บลำไย เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกและรวดเร็วในการเก็บผลผลิตลำไยในรัศมี 2 เมตร ลดความถี่ในการเก็บผลผลิตโดยไม่ต้องปีนขึ้นไปเก็บหลายๆ รอบ จากเดิมเกษตรกรจะใช้ไม้เก็บซึ่งจะเก็บได้ในรัศมี 1 เมตรเท่านั้น
เครื่องคัดขนาดลำไย อัตราการคัดขนาดเท่ากับ 200 – 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง มีค่าความแม่นยำในการคัดขนาดมากกว่า 90 % โดยไม่ทำให้ผลลำไยช้ำและเสียหาย ใช้หลักการสายพานลำเลียงเจาะรูตามขนาดมาตรฐาน คัดขนาดแบบรูปทรงและแบ่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางแตกต่างกัน โดยอาศัยความแตกต่างของผลลำไยที่ผ่านการตัดขั้วแล้ว
เครื่องคั้นน้ำลำไยพร้อมแยกเมล็ด เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเพิ่มมูลค่าและแปรรูปลำไยเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพหรือเครื่องสำอาง สามารถคั้นน้ำลำไยพร้อมแยกเนื้อและเมล็ดได้ในขั้นตอนเดียว โดยไม่ทำให้เมล็ดแตกซึ่งอาจส่งผลต่อรสชาติได้ มีอัตราการทำงาน 200 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ประยุกต์ใช้กับผลไม้ได้หลากหลายชนิด เช่น แบบกรองหยาบเหมาะสำหรับใช้คั้นน้ำลำไย มะม่วง และแบบกรองละเอียดเหมาะสำหรับใช้คั้นน้ำลองกอง มังคุด กระท้อน เป็นต้น
เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ระบบบาร์โคดตรวจสอบสินค้าย้อนกลับลำไยสด เป็นระบบที่เพิ่มความสมบูรณ์ให้ระบบจัดการคุณภาพลำไยสดที่มีอยู่แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตรงตามระเบียบความต้องการของ EU ระบบรองรับการพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารและการจัดการไปได้ในเวลาเดียวกัน โดยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกบรรจุเข้าไปในระบบการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประกอบไปด้วย ฐานข้อมูล 3 ส่วน อันได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลของผู้ผลิตลำไย ประกอบด้วย ชื่อและหมายเลขประจำตัวชาวสวน ข้อมูลการจัดการสวน หมายเลขทะเบียนการจัดการสวนที่ดี (GAP) ซึ่งชาวสวนได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมวิชาการเกษตร ส่วนที่ 2 เป็นข้อมูลของผู้ประกอบการส่งออก ประกอบด้วย ชื่อบริษัทผู้ส่งออก หมายเลขทะเบียนโรงคัดบรรจุ เลขทะเบียนอนุญาตโรงอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ชื่อผู้นำเข้าและประเทศผู้นำเข้า รวมทั้งบรรจุข้อมูลต่างๆ ในระบบบัญชี และ ส่วนที่ 3 เป็นข้อมูลของสินค้า ประกอบด้วย วันที่ทำการเก็บเกี่ยว วันที่ส่งขาย ปริมาณสินค้า เกรดและมาตรฐานของสินค้า กรรมวิธีการอบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เช่น อัตราซัลเฟอร์ฯที่ใช้ หมายเลขห้องที่อบ ปริมาณสินค้าที่อบในแต่ละครั้ง ระยะเวลาในการอบ ชื่อผู้ควบคุมกระบวนการอบ ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ตกค้างในผลลำไย หมายเลขห้องเย็นที่ใช้เก็บ วันที่บรรจุเข้าตู้เรือ หมายเลขตู้เรือ และข้อมูลบริษัทเรือ เป็นต้น
โรงรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ยืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานตั้งอยู่ที่จังหวัดลำพูนและเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีของ วว. ในด้านการรมซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อยืดอายุและรักษาคุณภาพลำไยเพื่อการส่งออก มีประสิทธิภาพควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในเนื้อลำไยได้ ช่วยลดการใช้กำมะถัน ลดปริมาณการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีกำลังการผลิต 72 ตันต่อวัน ช่วยยืดอายุการเก็บผลลำไยหลังการเก็บเกี่ยวได้นานขึ้น 30-45 วัน ให้บริการครบวงจรในการรมและการควบคุมปริมาณซัลเฟอร์ฯ มีระบบห้องเย็นเพื่อใช้ในการจัดเก็บลำไยในช่วงที่มีปริมาณผลผลิตออกมามาก และมีห้องปฏิบัติการในการวิจัยและวิเคราะห์ทดสอบด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับมาตรฐานและขีดความสามารถในการส่งออกลำไย
การแปรรูปผลผลิต “ลำไยอบแห้งสอดไส้” เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยยืดอายุและเพิ่มมูลค่า โดยการนำเนื้อลำไยแช่น้ำเชื่อม จากนั้นนำมาสอดไส้และอบแห้ง ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีลักษณะทรงกลม เนื้อสัมผัสภายในนุ่ม ชุ่มน้ำหวาน ไม่แข็งกระด้าง รสชาติอร่อย ในกระบวนการผลิตนอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์ลำไยแห้งสอดไส้แล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์พลอยได้จำนวน 2 ผลิตภัณฑ์ คือ น้ำลำไยเข้มข้นหรือวุ้นลำไยอบแห้ง ที่สามารถผลิตจำหน่ายในเชิงการค้าหรือรับประทานในครัวเรือน โดยเฉพาะในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ที่มั่นคง
วว. พร้อมเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของเกษตรกร ผู้ประกอบการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเทคโนโลยีพร้อมใช้และขอรับบริการจาก วว. ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 หรือที่ E- mail : tistr@tistr.or.th