ยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road)

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

น.สพ. ยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตร กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนา BCG สาขาเกษตรนั้น มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนในลักษณะของการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) โดยในเบื้องต้นได้คัดเลือก 5 จังหวัดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จ.ราชบุรี จ.ลำปาง จ.ขอนแก่น จ.จันทบุรี จ.พัทลุง และการเชื่อมติ่ออุปสงค์อุปทานในลักษณะของกลุ่มสินค้า (Community based) ที่มีความสำคัญในจังหวัดนำร่องนั้นๆ โดยให้ความสำคัญในทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน โดยใช้ความร่วมมือ 4P (Public-Private-People-Professional partnership) ระหว่างกลุ่มเกษตรกร ภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่นำร่องลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตสินค้า และส่วนเหลือทิ้งจากการเกษตร โดยสร้างความเชื่อมโยงเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอกห่วงโซ่การผลิต การแปรรูป การบริการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยวของจังหวัดนั้นๆ

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. และ เลขานุการคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทาง สายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road)” เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อน BCG ของกลุ่มสินค้าข้าวเหนียว โดยเป็นการผนึกกำลังระหว่าง สวทช มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด  และหน่วยงานของกระทรวงเกษตร์และสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อผลักดันการใช้ BCG Model ขับเคลื่อนชุมชนที่มีฐานการผลิตข้าวเหนียว ให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร โดยบูรณาการด้านการผลิตพืช การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืนในชุมชน โดยเชื่อมโยงวัฒนธรรม ทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง เป็นมิตรกับส่งแวดล้อม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบบูรณาการที่อิงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น นำไปสู่การยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิต

ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และเลขานุการคณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเกษตร กล่าวว่าในปี 2565 โครงการ BCG-Naga Belt Road มีเป้าหมายในการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง จ.เชียงราย จ.อุดรธานี และ จ.นครพนม โดยมีแผนการดำเนินงาน 4 แผนงาน ประกอบด้วย 1) การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสมโดยใช้พื้นฐานของความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเหนียว  และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว 2) การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตข้าวเหนียวและการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร 3) การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว และ 4) การพัฒนาระบบสนับสนุน Enabler System เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG model

การถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตที่เหมาะสมโดยใช้พื้นฐานของความหลากหลายของพันธุ์ข้าวเหนียว  และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรสมัยใหม่ที่เหมาะสม เพื่อสร้างความเข้มแข็งมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว มี ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา เป็นผู้ประสานงานโครงการ ระบบบริหารจัดการติดตาม การพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวการผลิตข้าวให้ได้ตามมาตรฐานเกษตรเพื่อความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยแหนแดงและพลังงานแสงอาทิตย์ โดยในแต่ละจังหวัดนำร่องแบ่งกลุ่มเกษตรกร 16 กลุ่มๆ ละ 50 คน ต่อจังหวัด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวม 3,200 คน ใน 4 จังหวัด มีการพัฒนานักวิจัยชุมชน 3 ระดับ นักวิจัยประสาน (F) นักวิจัยชุมชน (Leader) นักวิจัยเกษตรกรชุมชน (Trainer) ทุกจังหวัดจะ มี F-L-T จำนวน 1-4-16 คนตามลำดับ โดยมีนักวิจัยชุมชนในโครงการ 84 คน เป็นขบวนการเพิ่มศักยภาพองค์ความรู้อยู่ในชุมน Human capacity ในโครงการมีการคัดเลือกพื้นที่เข้าร่วม จังหวัดนครพนม 11 อำเภอ อุดรธานี 7 อำเภอ ลำปาง 9 อำเภอ และ เชียงราย 10 อำเภอ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 4 จังหวัด ผลิตข้าวเหนียวพื้นที่รวม 24,152 ไร่ เกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ตรงตามพันธุ์ จำนวน 724,586 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 63,114,689 บาท กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์ เป็นตัวอย่าง สามารถยกระดับให้เป็นชุมชนมาตรฐานการผลิตอินทรีย์ที่การผลิตสินค้าเกษตรแบบอินทรีย์แบบมาตรฐานการเกษตรนานาชาติ พื้นที่ผลิตข้าว 4,634.7 ไร่ มีราคาสูงกว่าราคาท้องตลาด 1-2 บาทต่อกิโลกรัม และมีการผลิตแหนแดงในพื้นที่นำร่องในนาข้าว สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 419.85 ตันคาร์บอน ราคาคาร์บอนเครดิต 398,223 บาท พลังงานสะอาด ลดการปลดปล่อยก๊าซ สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 9.75 ตันคาร์บอน ราคาคาร์บอนเครดิต 9,251 บาท เป็นต้น

การยกระดับห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตข้าวเหนียวและการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรนั้นมี ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นผู้ประสานงาน เน้นการเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านการแปรรูปจากข้าวเหนียว ร่วมกับ ผู้ประกอบการ นักศึกษา และที่ปรึกษาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป้าหมาย 173 ราย  และการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรโดยการทำ Particle Board จากฟางข้าว และ พลาสติก สู่งานสร้างสรรค์ทางหัตถศิลป์ พัฒนาการผลิตภาชนะจาก Biomaterial (ฟางข้าว) การพัฒนาการผลิตเห็ดจากฟางข้าว ประยุกต์ใช้ Geopolymer ในงานหัตถกรรมโดยการใช้แกลบดำหรือเถ้าลอยจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล การพัฒนาดินปลูกคุณภาพสูงจากเถ้าลอยจากโรงงานไฟฟ้าชีวมวล และ/หรือ แหนแดง รวมทั้งการประยุกต์สีย้อมธรรมชาติจากทุ่งนาสู่งานหัตถกรรมสิ่งทอ เป็นต้น อีกด้านหนึ่งคือ การ Reskill-upskill ทรัพยากรมนุษย์ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตข้าวเหนียวสู่การเรียนรู้ตลอดชีพ ผู้เข้าอบรม มีกลุ่มผู้ประกอบการด้านปัจจัยทางการเกษตร 80 ราย กลุ่มผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร 131 ราย กลุ่มผู้ให้บริการโดรนทางการเกษตร 115 ราย และ กลุ่มผู้ประกอบการโรงสี 40 ราย โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ด้านนวัตกรรมทางอาหารที่แปรรูปจากข้าวเหนียวและพัฒนานวัตกรด้วยการอบรม Creative Design Thinking และWorkshop ร่วมกับผู้ประกอบการ นักศึกษา และนักนวัตกรรมทางอาหาร ออกแบบผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากข้าวเหนียว 40 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ การสร้างความตระหนักด้าน carbon credit และการสร้าง eco-system ในการพัฒนาชุมชน carbon ต่ำ

การพัฒนาระบบสนับสนุน Enabler System เพื่อการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจตาม BCG model มี ดร.สุจินต์ ภัทรภูวดล อาจารย์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ประสานงาน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่นำมาสู่การบันทึกข้อมูลการระบาดของโรคในแปลงเกษตรผ่านบริการวินิจฉัยโรคข้าวด้วยปัญญาประดิษฐ์ LineBoT โรคข้าว ที่พัฒนาร่วมกันระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาระบบเว็บแอปสำหรับจัดเก็บและติดตามข้อมูลสำหรับสนับสนุนการยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในโครงการ BCG Naga Belt Road โดยระบบดังกล่าวมีฐานข้อมูลของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายและข้อมูลสมทบต่างๆ ประกอบด้วย ข้อมูล FLT พาสปอร์ตเกษตรกร ข้อมูลจากแบบสอบถามจากโครงการ ข้อมูลพิกัดแปลงนาของเกษตรกร ข้อมูลวิเคราะห์ความเสี่ยง และข้อมูลสภาพอากาศ และ รศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ช่วยศึกษาบริบทการทำนาข้าวเหนียวและห่วงโซ่อุปทานในพื้นที่จังหวัด  เชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครพนม และศึกษาวิธีการต่างๆ ในการวัดการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เพื่อเข้าใจระดับฐานทุนชุมชน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียว และปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยนำเข้ากับฐานทุน และระหว่างฐานทุนกับบริบทแวดล้อม จัดทำ Mapping ปัจจัยนำเข้ากับฐานทุน/บริบทแวดล้อม และ output เพื่อเป็นฐานในการจัดทำร่าง indicator และนำร่าง Indicator ที่ใช้วัดฐานทุนด้านต่างๆ บริบทแวดล้อมและ outcome เพื่อใช้ในการทำสำรวจรายครัวเรือน สู่การพัฒนาเชิงระบบของนโยบายของ BCG ภาคการเกษตร สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม ทรัพยากรท้องถิ่น และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียวมี ดร.อรรจนา ด้วงแพง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้ประสานงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและการพัฒนาตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ของจังหวัดนำร่อง โดยในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดลำปาง ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดอุดรธานี ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดนครพนม ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร มีการพัฒนาสู่คลังความรู้ของชุมชน ในด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว หมู่บ้านแห่งการท่องเที่ยววัฒนธรรมข้าวเหนียว ส่งเสริมตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานราก

การดำเนินงานโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทาง สายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG-Naga Belt Road)” เป็น Quick Win ของ BCG สาขาเกษตร ที่เป็นแบบอย่างของการทำงานความร่วมมือแบบ 4P (Public-Private-People-Professional partnership) อย่างแท้จริง โดยหน่วยงานสนับสนุนทุน เช่น สกสว และ สวก ติดตามความก้าวหน้าของโครงการร่วมกับคณะผู้ทรงคุณวุฒิติดตามโครงการ เพื่อให้เห็นแนวทางในการสนับสนุนและผลักดันแนวทางการขับเคลื่อน BCG ในลักษณะของการบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) ตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.