วว. คว้า 3 รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 จากผลงานขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 จาก คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จำนวน  3 รางวัล ซึ่งเป็นการดำเนินงานขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ  BCG  ได้แก่  โครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน  ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม และนวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและมูลค่ากล้วยไข่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร  โดย  นายวิษณุ   เครืองาม   รองนายกรัฐมนตรี  ได้มอบรางวัลดังกล่าว  ให้แก่  ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ  วว.  ในวันที่  16   กันยายน  2564  ผ่านระบบ Video  Conference : Zoom  Meeting 

รางวัลเลิศรัฐ  เป็นรางวัลที่ ก.พ.ร. มอบให้แก่หน่วยงานที่พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ระบบการบริหารงาน และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน จำนวน   234  รางวัล  โดย วว. ได้รับ  3  รางวัล ดังนี้

รางวัลบริการภาครัฐ  ประเภทรางวัลนวัตกรรมบริการ  ระดับดีเด่น  จากผลงาน โครงการตาลเดี่ยวโมเดลจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม  เป็นรูปแบบการบริหารจัดการขยะที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ให้เหมาะสมในแต่ละขั้นตอนการผลิตและแปรรูป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและสามารถดำเนินการได้เอง โดยมีเทคโนโลยีหลัก 3 ส่วน  ได้แก่ 1.ชุดคัดแยกขยะระบบกึ่งอัตโนมัติแบบเบ็ดเสร็จ 2.ชุดคัดแยกชนิดและสีพลาสติกด้วยระบบ NIR และ Vision พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติกกำลังการผลิต 100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และ 3.นวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพร่วมกับสารปรับปรุงดิน ตลอดจนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถเชื่อมโยงและส่งเสริมการจัดการขยะระหว่างชุมชน  ผู้ประกอบการ  รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน 

รางวัลบริการภาครัฐ  ประเภทพัฒนาการบริการ  จำนวน  2  รางวัล  ได้แก่ 

ระดับดีเด่น  จากผลงาน ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม  (ICPIM)  ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ  มุ่งเป้าระยะยาวเพื่อชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้ได้ 100%  สำหรับการวิจัยพัฒนา ผลิต บริการ ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากโพรไบโอติกและพรีไบโอติก ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคนไทย มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ

ระดับดี   จากผลงาน นวัตกรรมเพิ่มผลผลิตและมูลค่ากล้วยไข่เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจการเกษตร  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีลดความสูงของกล้วยไข่เพื่อลดความเสียหายจากลมพายุ มีต้นทุนการผลิต 1 บาทต่อต้น นอกจากนี้ยังสามารถปลูกกล้วยให้ชิดได้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากกล้วยที่ไม่เสียหายและปลูกจำนวนต้นต่อพื้นที่ได้มากขึ้น รวมทั้งการวิจัยเพิ่มขนาดและน้ำหนักของผลกล้วยไข่ได้ 50-70 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้สารกลุ่มจิบเบอเรลลิน (Gibberellin) ฉีดพ่นโดยตรงที่ผลอ่อนจำนวน 2 ครั้ง ห่างกันหนึ่งสัปดาห์ ที่ความเข้มข้น 50 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งมีต้นทุนประมาณ 4 บาทต่อเครือ ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นจากขนาดและน้ำหนักผลของกล้วยไข่ที่เพิ่มขึ้น

 ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการ  วว.  กล่าวว่า   ทั้ง  3  รางวัลเลิศรัฐได้รับนั้นเป็นความภาคภูมิใจของ วว. ที่สามารถผลิตผลงานช่วยแก้ไขปัญหา  ตอบโจทย์ประเทศได้เป็นรูปธรรม  ผ่านการดำเนินงานร่วมขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ วว. บูรณาการดำเนินงานกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเน้นการเป็นหุ้นส่วนความสำเร็จของผู้ประกอบการ (Partner  to  your  success) เพื่อสร้างนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published.