นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ศรีราชาติดตามความก้าวหน้าสถานีดาวเทียม และศูนย์กลางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ
17 กันยายน 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าสถานีดาวเทียมและศูนย์กลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Eastern Economic Corridor of Digital: EECd) เพื่อติดตามการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA และดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการฯ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและคณะได้รับฟังรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบ THEOS-2 และการพัฒนาดาวเทียมระดับ Industrial grade โดยวิศวกรไทย การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศจากเครือข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ รวมถึง การนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี และคณะ ยังได้รับฟังความคืบหน้าการดำเนินงานของศูนย์ทดสอบและประกอบดาวเทียมแห่งชาติ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวมีอุปกรณ์เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม โดยเฉพาะดาวเทียมเล็ก ขนาดน้ำหนัก 10 – 500 กิโลกรัมในประเทศไทย ตลอดจนการให้บริการแก่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้นำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy) รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของบุคลากรไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) และการอบรม เพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมต่อไปในอนาคต รวมทั้งการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ หรือ “กาแลคซี่” (GISTDA’s Aerospace Laboratory of Excellence and Innovation) ซึ่งให้บริการการทดสอบชิ้นส่วนวัสดุอากาศยาน ที่ได้รับรองมาตรฐานในระดับสากล ทั้งด้านมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ AS9100 NADCAP และมาตรฐานความสามารถในการให้บริการทดสอบของห้องปฏิบัติการ ISO/IEC17025 และล่าสุดจาก BUREAU VERITAS
นอกจากนี้ ยังได้รับฟังการดำเนินงานของศูนย์การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจรของประเทศไทยแบบครบวงจรหรือ Astro Lab ซึ่งศูนย์ดังกล่าว มีภารกิจหลักเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ รวมถึงการสอนเกี่ยวกับพื้นฐานของกลศาสตร์วงโคจร การออกแบบระบบยานอวกาศ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาฝึกงานได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการต่างๆของศูนย์ฯ ตลอดจน การให้ทุนวิจัยเพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมอวกาศร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อยกระดับประเทศไทย เป็นต้น