สอวช. เปิดข้อมูล ปี 2568 จะมีงาน 85 ล้านตำแหน่งถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร และมีงานใหม่เพิ่มขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง อาชีพแห่งอนาคตส่วนใหญ่เป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิต ทั้งเรื่องสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องให้ความสนใจหลังจากนี้เป็นเรื่องทักษะแรงงานในอนาคต หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งเรื่องนี้ ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบาย การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวว่า จากการศึกษาวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลของ สอวช. พบว่า บริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเป็นแบบหลายช่วง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างฉับพลัน การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ที่มีทักษะและความรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ดร.กาญจนา กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ เป็นตัวเร่งให้ภาคเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบทางไกล และการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์สที่มากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้ จากผลกระทบดังกล่าว World Economic Forum (WEF) ได้ประมาณการว่า ภายในปี พ.ศ. 2568 จะมีงานประมาณ 85 ล้านตำแหน่งถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร แต่ก็จะมีงานใหม่เพิ่มขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง โดยอาชีพแห่งอนาคตส่วนใหญ่จะเป็นงานด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูล ระบบอัตโนมัติ และจะเป็นการผสมผสานระหว่างทักษะด้านดิจิทัลและการคิดวิเคราะห์ของมนุษย์ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติได้ ทั้งนี้อัตราการแพร่กระจายของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมากขึ้น ยิ่งทำให้การคาดการณ์ความต้องการทักษะงานทำได้ยากขึ้น และทักษะจะยิ่งล้าสมัยได้เร็วขึ้น

“สำหรับตำแหน่งงานที่มีความสำคัญโดยเฉพาะภายหลังโควิด-19 ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์ข้อมูล, ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร, ผู้เชี่ยวชาญด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรหุ่นยนต์, นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน, ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล, ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการระบบอัตโนมัติ, นักวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัย, ผู้เชี่ยวชาญด้าน Internet of things ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่หลายหลาย อาทิ ระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีคลาวด์, ข้อมูลขนาดใหญ่, ไอโอที, การเข้ารหัสข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์, ปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น”  รอง ผอ.สอวช. กล่าว

ดร.กาญจนา กล่าวด้วยว่า สอวช. ยังได้สำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานสำคัญที่เป็นที่ต้องการสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศไทย ในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2563 – 2567) โดยมุ่งเน้นตำแหน่งงานที่ใช้ทักษะสูง และตำแหน่งงานรูปแบบใหม่ และคำนึงถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าในระยะ 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยมีความต้องการบุคลากรทักษะสูงใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายรวมกว่า 170,000 คน โดยตัวอย่างตำแหน่งงาน เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist), Crop Modelling Analyst ในอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในวิทยาการสมัยใหม่ในลักษณะข้ามศาสตร์ และแบบสหวิทยาการ, ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดดิจิทัล ในการท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้สูงและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

การเตรียมกำลังแรงงานเพื่อเข้าสู่ตลาดงานยังต้องคำนึงถึงการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้แรงงานมีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่าง ๆ ได้ โดยทักษะที่จะมีความจำเป็นและเป็นที่ต้องการของภาคธุรกิจ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจ เพื่อมาเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติ, ทักษะด้านดิจิทัล การใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อรองรับการทำธุรกิจออนไลน์, ทักษะการใช้ซอฟต์แวร์ประชุมและการนำเสนองานผ่านออนไลน์ การใช้คลาวด์ เพื่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน, รวมถึงทักษะ soft skill อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น ความสามารถในการยืดหยุ่นและการปรับตัว ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงนวัตกรรม และยังมีทักษะที่สำคัญแห่งโลกอนาคตอื่น ๆ  ได้แก่ การสร้างความเข้าใจในเชิงลึก ความฉลาดในการเข้าสังคม ความคิดแปลกใหม่และการประยุกต์ใช้ การทำงานกับคนต่างวัฒนธรรมที่หลากหลายได้ ความคิดเชิงประมวลผลหรือเชิงระบบ ความเข้าใจและตามทันโลกยุคสื่อดิจิทัล ความสามารถในการคิดออกแบบสร้างสรรค์งาน การจัดการบริหารการรับรู้ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ดร.กาญจนา กล่าวด้วยว่า ไม่เพียงแต่วงการทำงานเท่านั้นที่ประชาชนต้องเตรียมปรับตัวเพิ่มทักษะเพื่อรองรับการทำงานหลังโควิด-19 วงการศึกษาไทยก็ต้องมีการปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published.