วว. จับมือการยางแห่งประเทศไทย นำ วทน. ส่งเสริม สร้างรายได้ยั่งยืน ให้เกษตรกร ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม/ชุมชน
เรืออากาศเอก กนก ทองเผือก กรรมการบริหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมประชุมหารือการขยายขอบข่ายความร่วมมือระหว่าง วว. และ กยท. โดยมี นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิจัย วว. นายพิสิษฐ สุขอนันต์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ กยท. ร่วมประชุมด้วย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) แก้ไขปัญหาด้านกระบวนการผลิตให้แก่สมาคมและกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งนำองค์ความรู้ วทน. การเกษตร ส่งเสริมการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อาทิ การปลูกสมุนไพร พืชเศรษฐกิจ หรือส่งเสริมการเพาะเห็ดที่มีมูลค่าสูงผสมผสานในพื้นที่สวนยาง นอกจากนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้เล็งเห็นประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตรและยางพารา ณ สถานีวิจัยลำตะคอง วว. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกันดังกล่าว และเห็นชอบในหลักการที่จะมีการลงนามเพื่อขยายขอบข่ายความร่วมมือในเดือนพฤศจิกายนศกนี้ เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2564 ณ ห้องรับรอง สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ที่ผ่านมา วว. และการยางแห่งประเทศไทย ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันด้านการอบรม วิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีกรอบความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาหาแนวทางการใช้ทรัพยากรหรือทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจร่วมกันในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้วยวิธีบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานงานความร่วมมือด้านการอบรม การวิจัยวิชาการทาง วทน. เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานทั้งสอง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางและการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคาและลดต้นทุน รวมทั้งเติบโตได้ โดยใช้องค์ความรู้ด้าน วทน. เป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาคือ เร่งส่งเสริมให้เกิดสังคมนวัตกรรม โดยเสริมสร้างนวัตกรรมภาคธุรกิจ พัฒนานวัตกรรมภาครัฐและภาคสังคม ตลอดจนผลักดันงานวิจัย เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า