“กฎหมายอวกาศ กับกรณีชิ้นส่วนจากจรวดตกสู่พื้นโลก”
กรณีชิ้นส่วนจรวด Long March 5B ของสาธารณรัฐประชาชนจีนตกสู่โลกโดยไม่มีการควบคุม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม 2564 ภายหลังปฏิบัติภารกิจส่งโมดูลอวกาศเทียนเหอไปยังสถานีอวกาศเทียนกงเรียบร้อยแล้ว ทำให้หลายๆ ประเทศหันมาให้ความสนใจในการติดตามเส้นทางที่ชิ้นส่วนวัตถุอวกาศของจรวดดังกล่าวตกสู่พื้นโลก รวมถึง GISTDA ที่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยชี้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ซึ่งก็เป็นไปตามการคาดการณ์
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA เผยว่า แม้ชิ้นส่วนจากจรวดที่ตกมาสู่พื้นผิวโลกจะไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน แต่กฎหมายอวกาศหรือข้อตกลงทางด้านอวกาศก็มีการกล่าวถึงรายละเอียดของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากดาวเทียมหรือสถานีอวกาศ โดยประเทศเจ้าของวัตถุชิ้นนั้น จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้น
จากที่ได้หารือกับ ผศ.ดร.ชูเกียรติ น้อยฉิม
หัวหน้าสาขากฏหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้แทนไทยในคณะผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค (Specialized Panel of Scientific and Technical Experts) ภายใต้กฎว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทเกี่ยวกับกิจกรรมทางอวกาศของศาลประจำอนุญาโตตุลาการ ทำให้ทราบว่า กฎหมายอวกาศ กฎเกณฑ์ และแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลมีอยู่ว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในกรณีเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ก็คือสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านอวกาศ (Space Treaties) ของสหประชาชาติ จำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับที่ 1 คือสนธิสัญญาว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำเนินกิจการของรัฐในการสำรวจและการใช้อวกาศภายนอก รวมทั้งดวงจันทร์ และเคหะในท้องฟ้าอื่น ๆ ค.ศ. 1967 (“Outer Space Treaty”) ฉบับที่ 2 ความตกลงว่าด้วยการช่วยชีวิตนักอวกาศ การส่งคืนนักอวกาศ และการคืนวัตถุที่ส่งออกไปในอวกาศภายนอก ค.ศ. 1968 (“Rescue Agreement”) และฉบับที่ 3 คืออนุสัญญาว่าด้วยความรับผิด ระหว่างประเทศ สำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 (“Liability Convention”) โดยหน่วยงานที่ดูแลการดำเนินกิจการอวกาศของประชาคมโลก คือสำนักงานกิจการอวกาศส่วนนอกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Outer Space Affairs – UNOOSA) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีใน 2 ฉบับข้างต้น ดังนั้น เมื่อมีชิ้นส่วนจากอวกาศตกในประเทศไทย ประเทศไทยต้องส่งคืนชิ้นส่วนจากอวกาศนั้นให้แก่ประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศโดยทันทีหากได้รับการร้องขอ
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีบุคคลทั่วไปพบวัตถุอวกาศตกในอาณาเขตประเทศไทย จะต้องแจ้งต่อพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องที่ให้ทราบโดยเร็ว เพื่อแจ้งไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อประสานต่อไปยังประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศ และองค์การระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยความรับผิด ระหว่างประเทศ สำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ.1972 (“Liability Convention”) ส่งผลให้ในแง่ของกฎหมาย ประเทศไทยไม่สามารถปรับใช้สนธิสัญญานี้กับประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศเพื่อเรียกค่าเสียหาย หากชิ้นส่วนวัตถุอวกาศเหล่านั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน
แม้ว่าประเทศไทยยังไม่เคยพบผู้ประสบเหตุที่ได้รับความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการตกสู่พื้นโลกของวัตถุอวกาศ ก็ตาม
ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกมีการแข่งขันอย่างสูงในการผลิตวัตถุอวกาศ อาทิ ดาวเทียม หรือสถานีอวกาศขึ้นสู่วงโคจรในห้วงอวกาศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในวันข้างหน้าประเทศไทยก็อาจจะได้รับผลกระทบหรือเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่มีต้นเหตุจากการตกสู่พื้นโลกของชิ้นส่วนวัตถุอวกาศ ดังนั้นเพื่อการเตรียมการรองรับในอนาคต คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ จึงได้มอบหมาย GISTDA จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พระราชบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมอวกาศ และมีหน่วยงานกลางบูรณาการกิจการอวกาศของประเทศ รวมถึงเตรียมความพร้อมของประเทศไทย ในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความรับผิดระหว่างประเทศ สำหรับความเสียหายที่เกิดจากวัตถุอวกาศ ค.ศ. 1972 (“Liability Convention”) ที่จะส่งผลให้ ประเทศไทยได้รับการคุ้มครองกรณีที่มีชิ้นส่วนวัตถุอวกาศของประเทศอื่นตกลงสู่พื้นโลก ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนที่อาศัยอยู่อาณาเขตของประเทศไทย และมีกลไกในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นในการเรียกค่าเสียหายจากประเทศผู้เป็นเจ้าของวัตถุอวกาศ และยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศในด้านการดำเนินกิจกรรมอวกาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีที่ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการสร้างท่าอวกาศยาน และเป็นรัฐผู้ส่ง หรือ Launching State ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว