นาโนเทค สวทช. พัฒนาชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ Professional Use และ SELF TEST
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 การตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อเพื่อการรักษาและลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ เป็นเรื่องสำคัญ นาโนเทค สวทช. พัฒนา “NANO Covid-19 Antigen Rapid Test “ ชุดตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็วด้วยเทคนิค LFA สำเร็จ 2 แบบคือ แบบ Professional Use สำหรับผู้ใช้ที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และแบบตรวจด้วยตนเอง SELF TEST พร้อมจุดแข็งด้านการใช้งานที่สะดวก รวดเร็ว รู้ผลไวใน 15 นาที ลดภาระงานบุคลากรการแพทย์ ผ่านการประเมินเทคโนโลยีจาก อย. ส่งต่อเอกชน นำเทคโนโลยีสู่ผู้ใช้จริง
นวัตกรรมชุดตรวจ NANO COVID-19 Antigen Rapid Test เป็นชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็วสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข (Professional Use) ซึ่งผ่านการประเมินเทคโนโลยีจากทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เรียบร้อยแล้ว โดยชุดตรวจ Nano COVID-19 Antigen Rapid Test นี้ เกิดจากการต่อยอดแพลตฟอร์มของ NanoFlu หรือชุดตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ที่ ดร.ภญ.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มองเห็นโอกาสและความจำเป็นในการต่อยอดพัฒนาชุดตรวจคัดกรองสำหรับโรคโควิด-19
ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) ทั้งแบบ Professional Use และแบบ SELF TEST นั้น เป็นชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบรวดเร็วชนิดการตรวจหาแอนติเจน (เทคนิค LFA) หรือ NANO Covid-19 Antigen Rapid Test ที่อาศัยหลักการไหลในแนวราบ และการจับกันแบบจำเพาะของโมเลกุลที่มีความจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยโมเลกุลดังกล่าวจะถูกติดสลากด้วยวัสดุนาโนตอบสนองชนิดพิเศษ ร่วมกับการพัฒนาและปรับสภาพองค์ประกอบต่างๆในชุดตรวจเพื่อให้สัญญาณ/เพิ่มสัญญาณ จนอ่านสัญญาณได้ภายใน 15 นาที
“ทีมวิจัยเริ่มพัฒนาชุดตรวจฯ แบบ Professional Use จนแล้วเสร็จ จากนั้น สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นโยบายจากภาครัฐที่เน้นเรื่องความสำคัญในการขยายการเข้าถึงชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ของประชาชนให้มากขึ้น จึงมีการอนุมัติให้สามารถใช้ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเอง หรือหลายคนเรียกว่า ชุดตรวจฯ แบบ Home Use หรือ Self-Test ซึ่งทางนาโนเทคเองก็มองเห็นความสำคัญ ช่วยเปลี่ยนผ่านงานวิจัย ต่อยอดมาเป็นชุดตรวจแบบ SELF TEST” ดร.ภญ.ณัฐปภัสรเผย
ความแตกต่างของชุดตรวจฯ ทั้ง 2 แบบคือ แบบ Professional Use ที่ผู้ทำการตรวจคัดกรองจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ และก้านเก็บตัวอย่างจะพิเศษกว่า ทั้งในแง่ของความยาว และความยืดหยุ่น เพื่อให้เก็บตัวอย่างได้ในตำแหน่งที่ลึก ในขณะที่แบบ SELF TEST จะเป็นประชาชนทั่วไป ก้านเก็บตัวอย่างจะแข็งและสั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บระหว่างใช้งานของผู้ใช้ที่ไม่คุ้นชิน
นอกจากนี้ ยังแตกต่างในด้านการแปลผล ที่แบบ Professional Use ซึ่งทำในสถานพยาบาล ซึ่งจะมีเครื่องไม้เครื่องมือ และอุปกรณ์ในระดับห้องปฏิบัติการรองรับในการวิเคราะห์และแปลผล ในขณะที่แบบ SELF TEST จะแปลผลจากชุดตรวจโดยผู้ใช้งานโดยตรง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบ Professional Use หรือแบบ SELF TEST ดร.ภญ.ณัฐปภัสรย้ำว่า หากผลการทดสอบเป็นบวกด้วยวิธี Antigen Rapid Test นี้ ต้องได้รับการตรวจยืนยันด้วยวิธีอนูวิทยาหรือ RT-PCR เพื่อยืนยันอีกครั้ง
ปัจจุบัน ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) ทั้งแบบ Professional Use และแบบ SELF TEST ได้ผ่านการประเมินเทคโนโลยีของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม และ 28 กันยายน 2564 ตามลำดับ โดยมี บริษัท อินโนไบโอเทค จำกัด รับถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีภาคเอกชนที่อยู่ระหว่างหารือร่วมกันอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็น 1 ในนวัตกรรมเพื่อสุขภาพที่จะนำมาจัดแสดงภายในงาน Health Tech Thailand 2021 มหกรรมนวัตกรรมการแพทย์และสุขภาพแห่งปี ภายใต้แนวคิด “The Sustainable Solutions of Health & Wellness” โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2564 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย