สกสว.จัดระดมความเห็นการพัฒนา NQI ของไทยให้เทียบเคียงระดับนานาชาติ
สกสว. เปิดเวที STO Forum ครั้งที่ 5 ระดมความเห็น และกำหนดทิศทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (NQI) ของประเทศให้สามารถเทียบเคียงระดับนานาชาติ
เมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุม “Science and Technology Organization Forum (STO Forum) ครั้งที่ 5/2564” ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (Video Conference) เพื่อระดมความเห็นต่อบทบาทสำคัญของสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ National Quality Infrastructure (NQI) ระหว่าง สกสว. และหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศและสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
โดยมี ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ประธานกรรมการอำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. และ รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และที่ปรึกษาด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
โอกาสนี้ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สกสว. กล่าวถึง สถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพให้ตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศ ว่า สกสว.ได้ตระหนังถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ เนื่องจากการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนยกระดับความสามารถในการแข่งขัน พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
โดยการกำหนดกรอบการดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Infrastructure and Facility) ที่มีศักยภาพและมีจำนวนที่เพียงพอ และการมีโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure; NQI) ที่ได้รับการยอมรับและทัดเทียมมาตรฐานสากล เป็นประเด็นที่หยิบยกมาหารือในการประชุม “Science and Technology Organization Forum (STO Forum) ครั้งที่ 5/2564” นี้ เพื่อให้ประเทศเกิดการพัฒนาด้าน ววน. ที่สามารถรองรับการวิจัยขั้นแนวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่อนาคต เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตและการบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมในปัจจุบัน และรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งในมิติของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีดิจิทัล ยานยนต์ หุ่นยนต์ อวกาศ และความมั่นคง
ยกตัวอย่าง แผนด้าน ววน.ปี 2566-70 ภายใต้แผนงาน P20 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศที่รองรับการวิจัยชั้นแนวหน้าและการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่อนาคต ที่ สกสว.จัดทำ ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ (Objectives and Key Results: OKRs) ให้ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม (Infrastructure and Facility) ที่สำคัญ เทคโนโลยีฐาน และโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ สำหรับการวิจัยขั้นแนวหน้าที่ทัดเทียมมาตรฐานสากล และสามารถรองรับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดสู่อนาคต อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการริเริ่มอุตสาหกรรมใหม่และบริการใหม่ในอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงซึ่งต่อยอดจากงานวิจัยชั้นแนวหน้า
โดยใช้กลไก 6 วงล้อในการขับเคลื่อน NQI คือ 1. กลไกการขับเคลื่อนและความตระหนักรู้ด้าน NQI เพื่อส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรด้าน NQI 2. กลไกขับเคลื่อนมาตรฐาน (Standard) ในส่วนของการกำหนดเกณฑ์จากการวิจัยพื้นฐาน (Setting criteria from basic research) และการพัฒนากลไกมาตรฐาน (Standard development mechanism) 3. กลไกขับเคลื่อนระบบการวัด (Measurement) 4. กลไกขับเคลื่อนการรับรองคุณภาพห้องปฏิบัติการ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการ 5. กลไกขับเคลื่อนมาตรฐาน (Standard) ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กำหนด และ 6. กลไกขับเคลื่อนพัฒนาหน่วยตรวจสอบและรับรอง ได้แก่ การพัฒนาศักยภาพหน่วยตรวจสอบและรับรองให้ครอบคลุมความสามารถทางเทคนิคและเป็นไปตามมาตรฐานสากล กลไกการตรวจสอบและรับรองเครื่องหมายนวัตกรรม (Innovation Mark) ที่นอกจากจะเคลื่อน NQI ที่กล่าวมาแล้ว ยังเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทั่วโลก (GCI) ของประเทศให้ดีขึ้น โดยที่ในปี 2017 ประเทศไทยมีคะแนน 4.723 คะแนน
ด้าน ดร.สิวินีย์ สวัสดิ์อารี หัวหน้าฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวถึง ระบบมาตรวิทยา ในทศวรรษหน้า: แกนเทคโนโลยีของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ ยุคดิจิทัลและยุคควอนตัม ว่า ‘เทคโนโลยีควอนตัม’ เป็นเทคโนโลยีหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีผลกระทบในเชิงกว้างในอนาคต ที่คาดการณ์ว่า อาจเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่ใช่ 20-30 ปีตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเตรียมพร้อมกับการเข้าสู่ยุค Disrupt เทคโนโลยีอีกครั้ง แม้หลายท่านมองว่าเทคโนโลยีควอนตัมกำลังอยู่ในกระแสที่ดึงดูดความน่าสนใจจากคนทั่วโลก และเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสาร ที่ต้องหาคำตอบในเทคโนโลยีอนาคตนี้ เช่น ควอนตัมคืออะไร? ควอนตัมจะส่งผลต่อชีวิตประจำวัน และการพัฒนาประเทศ อย่างไร
ที่สำคัญ เรื่องดังกล่าวเป็นความท้าทายการวิจัยระดับนานาชาติที่ก้าวหน้าเร็วกว่าการคาดการณ์ที่จะต้องช่วยกันดำเนินการ โดยเสนอไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะเตรียมความพร้อมให้ไม่ช้าเกินไป 2. การวิจัยใช้บุคลากรและเครื่องมือเฉพาะที่ประเทศไทยมีจำกัด ทั้งการพัฒนาบุคลากรให้ทันความต่อเนื่องในการสนับสนุนการวิจัย ครุภัณฑ์และโครงสร้างพื้นฐาน 3. การจัดลำดับความสำคัญในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ และการสร้างฐานเทคโนโลยีใหม่ ที่โดยส่วนตัวมองว่า การเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ เป็นการเตรียมการเพื่ออนาคต ไม่ใช่แค่เรื่องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้เพียงอย่างเดียว ซึ่งถือเป็นการสร้างที่ยืนให้กับประเทศไทย