ไบโอเทค สวทช. พัฒนาพันธุ์ข้าวเจ้านาปี “หอมสยาม” ข้าวหอม ผลผลิตสูง คุณภาพดี ต้านทานโรคไหม้ หวังส่งออกตลาดต่างประเทศ

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และพันธมิตร ร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวนาปีใหม่ “หอมสยาม (Hom Siam)” ซึ่งเป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ผลผลิตสูง ต้นเตี้ยทนการหักล้ม ต้านทานโรคไหม้ ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย ซึ่งได้มีการนำมาปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ให้ผลเป็นที่น่าพอใจต่อเกษตรกรและโรงสี โดยคาดว่าข้าวหอมสยามนี้จะสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศต่อไปในอนาคต

ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลให้ความสําคัญกับการเร่งรัดพัฒนาประเทศโดยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการใช้โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG model” คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยการขับเคลื่อนเป็นองค์รวมที่มีพื้นฐานมาจากการใช้ทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งสาขาเกษตรเป็นหนึ่งในสาขายุทธศาสตร์เป้าหมายที่ต้องเร่งรัดพัฒนาให้ความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ไบโอเทค สวทช. โดย ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ได้มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศในด้านการพัฒนาพันธุ์พืช และการบริหารจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบัน ไบโอเทค สวทช. เป็นหน่วยงานสร้างความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้านการปรับปรุงพันธุ์แนวอณูวิธี (molecular breeding) กับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าว” เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามความต้องการของผู้ผลิต ผู้บริโภค และความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเน้นพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค ผลงานที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย อาทิ ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน ข้าวเหนียว กข6 ต้นเตี้ย ต้านทานโรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง ข้าวน่าน59 และข้าวเหนียวหอมนาคา เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรในพื้นที่ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารของพื้นที่ และลดปัญหามลพิษจากสารเคมี ส่วนพันธุ์ข้าวหอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน เป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ให้ผลผลิตสูงเป็นที่ยอมรับของเกษตรกรบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และภาคใต้ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดน ทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนเพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมและสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี มีมาตรฐานไว้ใช้เองได้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน จนได้ชื่อ “ไบโอเทคติดนา” ผ่านการทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร สถาบันการศึกษา ภาครัฐ และภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง จนเกิดพลังแห่งการพัฒนาประเทศ

ด้าน ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา หัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของ ไบโอเทค ปัจจุบันรักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. นำความเชี่ยวชาญทางด้านการถอดรหัสจีโนม เพื่อระบุยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและคุณภาพข้าว และพัฒนาระบบการตรวจสอบยีนจาก ดีเอ็นเอ เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้รวดเร็วและมีลักษณะตามความต้องการ (Tailor-made rice variety) โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก จนเป็นหน่วยงานชั้นนำของประเทศในด้านการปรับปรุงพันธุ์โดยใช้เทคโนโลยี (Marker Assisted Selection) ในสถานการณ์วิกฤตของข้าวไทย การพัฒนาพันธุ์ข้าวหอมนุ่ม ผลผลิตสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทีมวิจัยได้พัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ “หอมสยาม” ที่มีคุณภาพการหุงต้มใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ผลผลิตสูง ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ยทนการหักล้ม ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย โดยมีความสูงต้นประมาณ 120 เซนติเมตร ลำต้นแข็ง ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักร ปัจจุบันทาง ไบโอเทค สวทช. อยู่ระหว่างการยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียน ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 กับกรมวิชาการเกษตร โดยข้าวพันธุ์หอมสยามนี้ จะเป็นข้าวหอมไทยคุณภาพอีกพันธุ์หนึ่งที่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศที่มีความต้องการข้าวคุณภาพในราคาที่ไม่สูงเกินไป

ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา ผู้เชี่ยวชาญการปรับปรุงพันธุ์และทดสอบพันธุ์ข้าวในแปลงนาโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2563 ทีมงานวิจัยได้มีการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรของบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ในการนำข้าวไปปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ ได้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 530 กิโลกรัมต่อไร่ (ความชื้น 14%) สูงกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ประมาณ 2.1 เท่าที่ปลูกในแปลงเดียวกัน

ต่อมาในปี 2564 ได้มีการขยายผลการปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.มหาสารคาม และ จ.บุรีรัมย์ รวมพื้นที่ 21 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมทดสอบพันธุ์ จำนวน 31 คน พันธุ์ข้าวหอมสยาม ได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวหอมต้นเตี้ย ผลผลิตสูง ลำต้นแข็งแรง ไม่หักล้มง่าย ทำให้ลดการสูญเสียผลผลิตจากการหักล้ม และลดต้นทุนในการเก็บเกี่ยว คุณสมบัติเด่นอีกประการของข้าวหอมสยามคือมีความต้านทานต่อโรคใบไหม้และโรคไหม้คอรวงได้ดีเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข15 เป็นการลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค

       “พันธุ์ข้าวหอมสยามจึงเป็นพันธุ์ข้าวที่ช่วยยกระดับรายได้เกษตรกร สร้างเศรษฐกิจชุมชมเข้มแข็ง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เกษตรกรที่สนใจสามารถลงทะเบียนขอรับพันธุ์ข้าวไปทดลองปลูกได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/15ml0i7FPytICen3hOZR7BBoAQKSHt32IbpvdAwMrz3U/edit?usp=drivesdk


Leave a Reply

Your email address will not be published.