Mutrack Dispatcher แพลตฟอร์มเพิ่มประสิทธิภาพ “งานเวรเปล” ในโรงพยาบาล ฝีมือสตาร์ทอัพคนไทยภายใต้การสนับสนุนจาก สวทช. ช่วยบ่มเพาะธุรกิจต่อยอดสู่สากล

บริษัทสตาร์ทอัพไทยประสบความสำเร็จพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการเวรเปลในโรงพยาบาล Mutrack Dispatcher รับส่งผู้ป่วยทันใจ ปลอดภัยต่อบุคลาการทางการแพทย์ในยุคโควิด-19 ได้รับการสนับสนุนจาก สวทช.ผ่านโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ช่วยต่อยอดธุรกิจจนนำไปสู่การใช้งานจริงในโรงพยาบาล ล่าสุดบริษัทเครือข่ายไร้สายระดับโลกดึงร่วมเป็นพันธมิตรเตรียมพัฒนาธุรกิจสู่นานาชาติ

นายปิโยรส ปิยจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท มิวแทรค จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทพัฒนา “ระบบบริหารจัดการเวรเปล” ในรูปแบบของแพลตฟอร์มชื่อ Mutrack Dispatcher ที่จะช่วยลดขั้นตอนการกระจายงานเวรเปลในโรงพยาบาล โดยใช้เทคโนโลยีบลูทูธพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy : BLE) เป็นการติดตั้งอุปกรณ์ Bluetooth Gateway หรือเรียกว่า Locator ตามจุดหรือแผนกต่างๆ ในอาคาร ลักษณะคล้ายการปักหมุดในแผนที่เพื่อบอกตำแหน่งของแต่ละชั้นและแผนก

ในส่วนการใช้งานจะมี 2 ส่วน คือ พยาบาลและเจ้าหน้าที่เวรเปล โดยพยาบาลจะใช้แพลตฟอร์มที่อยู่บนเว็บไซต์เพื่อสร้างคำขอในระบบสำหรับเรียกเจ้าหน้าที่เวรเปลให้มารับผู้ป่วย ซึ่งจะมองเห็นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่เวรเปลทั้งหมดในอาคาร โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่เวรเปลที่อยู่ใกล้ที่สุด ทำให้สามารถประเมินระยะเวลาในการรับส่งผู้ป่วยได้ และในส่วนของเจ้าหน้าที่เวรเปลจะมีการติดตั้งแอปพลิเคชัน Mutrack Dispatcher ลงในโทรศัพท์มือถือใช้งานผ่านสัญญาณบลูทูธที่ตรวจจับกับสัญญาณ Locator ที่อยู่ใกล้ เมื่อมีคำขอเข้ามาในระบบก็จะรู้ตำแหน่งของผู้ป่วยที่ต้องการให้ไปรับ เจ้าหน้าที่เวรเปลที่อยู่ใกล้ที่สุดสามารถกดปุ่มเพื่อรับงานไปรับตัวผู้ป่วยได้ทันที ลักษณะการใช้งานจะคล้ายกับบริการรถขนส่ง Grab หรือ Uber เมื่อเสร็จงานแล้วยังมีระบบบันทึกการทำงานของเจ้าหน้าที่เวรเปลแต่ละคน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่เวรเปล รวมถึงผู้ป่วยก็ได้รับความสะดวกมากขึ้นจากบริการของโรงพยาบาลด้วย

“โรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังใช้วิทยุสื่อสารในการเรียกเจ้าหน้าที่เวรเปล และเมื่อส่งผู้ป่วยไปยังแผนกปลายทางแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องเดินกลับไปยังเซ็นเตอร์หรือส่วนกลางของเวรเปลเพื่อรองาน ทำให้เกิดความล่าช้าในการรับส่งผู้ป่วยที่มักจะอยู่ตามชั้นหรือแผนกที่ไกลออกไป ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้”

ปัจจุบัน Mutrack Dispatcher ถูกนำไปใช้จริงแล้วที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากพยาบาลและเจ้าหน้าที่เวรเปลผู้ใช้งาน รวมถึงผู้ป่วยต่างได้รับความพึงพอใจการบริการเวรเปลที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ทำให้แพลตฟอร์มนี้มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระงานเวรเปลได้อย่างมาก

“ในช่วงการระบาดโควิด-19 ความปลอดภัยของบุคลาการทางการแพทย์สำคัญมาก ระบบที่เราทำก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ เนื่องจากการสร้างคำขอในระบบ เจ้าหน้าที่สามารถระบุได้ว่าผู้ป่วยที่จะให้เวรเปลไปรับเป็นผู้ป่วยประเภทไหน หากเป็นผู้ป่วยที่ต้องสงสัยติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นเชื้อโควิด-19 หรือโรคติดเชื้ออื่นๆ เจ้าหน้าที่เวรเปลสามารถรู้ข้อมูลผู้ป่วยเบื้องต้น เพื่อเตรียมพร้อมอุปกรณ์สำหรับป้องกันการติดเชื้อระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วย เช่น การสวมชุด PPE หรือเตรียมเตียงสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโดยเฉพาะ ปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่และตัวผู้ป่วย”

นอกจากนำไปใช้จัดการงานเวรเปลแล้ว Mutrack Dispatcher เมื่อมีการติดตั้งอุปกรณ์หรือวางระบบแล้ว ในอนาคตยังสามารถประยุกต์ใช้ในงานหลังบ้านอื่น ๆ ของโรงพยาบาลได้หลากหลาย เช่น งานล่ามแปลภาษา งานเมสเซนเจอร์ส่งพัสดุและเอกสารในโรงพยาบาล เป็นต้น สำหรับโรงพยาบาลที่สนใจระบบดังกล่าว บ.มิวแทรค พร้อมเข้าไปให้คำแนะนำโดยขณะนี้เปิดให้ลงทะเบียนทดลองใช้ฟรีที่ https://mutrack.co/th/dispatcherth/

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.มิวแทรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีและทำแผนธุรกิจร่วมกับ Aruba บริษัทผู้พัฒนาเครือข่ายไร้สายชั้นนำของโลก ในการนำระบบดังกล่าวไปใช้ในโรงพยาบาลต่างประเทศที่ใช้เครือข่ายของ Aruba โดยจะพัฒนาให้สามารถนำแพลตฟอร์มไปใช้งานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามความสำเร็จของ Mutrack Dispatcher ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับการสนับสนุนที่ดีจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เปิดโอกาสให้บริษัทเข้าร่วม “โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือ SUCCESS” ที่ให้ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจ Startup ด้านไอทีและเทคโนโลยีเข้าไปบ่มเพาะเรียนรู้การทำธุรกิจและการลงทุน รวมถึงเป็นโอกาสที่ได้พบปะกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มีความสนใจธุรกิจเทคโนโลยีมาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อเสนอแนะจนสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจของตนเองได้

สำหรับโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี หรือ SUCCESS จัดโดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี ปี 2564 หรือ SUCCESS 2021 (รุ่นที่ 19) ได้ที่ http://bit.ly/SUCCESS2021byBIC

รับสมัครระหว่างวันที่ 10 – 31 พฤษภาคม 2564 หรือติดตามข่าวสารการเปิดรับสมัครโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ได้ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th/bic/ หรือเฟซบุ๊กเพจ www.facebook.com/NstdaBIC

Leave a Reply

Your email address will not be published.