หลังเที่ยงคืน 13 รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 64 ชวนชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” พระเอกแห่งปรากฏการณ์ท้องฟ้าฤดูหนาว
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยหลังเที่ยงคืน 13 – รุ่งเช้า 14 ธันวาคม 64 มีปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” ปีนี้มีแสงจันทร์รบกวนในช่วงแรก แนะสังเกตหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลา 02:00 น. ของวันที่ 14 ธ.ค. 64 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า คาดอัตราการตกสูงสุดประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง หากฟ้าใสไร้เมฆ ชมด้วยตาเปล่าได้ทั่วไทยในพื้นที่มืดไร้แสงรบกวน
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า หลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ธันวาคม – รุ่งเช้าวันที่ 14 ธันวาคม 2564 จะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ มีศูนย์กลางกระจายตัวอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ อัตราการตกสูงสุดประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง กลุ่มดาวคนคู่จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:00 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ในคืนดังกล่าวจะมีแสงรบกวนจากดวงจันทร์ข้างขึ้น 10 ค่ำ ในช่วงแรกของปรากฏการณ์ แนะนำให้ชมหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้าแล้ว เวลาประมาณ 02:00 น. ของวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า สถานที่ชมฝนดาวตกควรเลือกสถานที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน และสามารถมองเห็นได้รอบทิศ ควรนอนชมด้วยตาเปล่า เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหิน และเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (Fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือ เป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย