เอ็มเทค สวทช. – บ.ธนัทธร เปิดตัว ‘กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ ขานรับภาคอุตสาหกรรม ผสมยางพารา 30 % ‘ทนทาน-ไม่แตกหักง่าย-ลดการใช้พลาสติก’

(21 ธันวาคม 2564) ห้องแถลงข่าวกระทรวง อว. : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดตัวกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ที่ได้จากการผสมยางธรรมชาติและพลาสติก ทดแทนกรวยจราจรแบบเดิมที่ผลิตจากพลาสติก ทำให้ใช้เวลาในการฉีดขึ้นรูปกรวยจราจรต่อรอบต่อชิ้นน้อยลงกว่าเดิม สามารถแกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ฉีดได้ง่ายกว่า ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้กรวยจราจรที่มีความยืดหยุ่น ไม่แตกหักเมื่อถูกรถชนหรือทับ ทั้งยังช่วยลดของเสียในกระบวนการผลิตขณะนี้ผ่านการทดสอบการใช้งานจริงจากผู้ประกอบการ อีกทั้งได้เข้าสู่กระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายแล้ว

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy Model ที่ต้องการให้อุตสาหกรรมไทยหันมาใช้วัสดุสีเขียว (Green Materials) ซึ่งได้มาจากธรรมชาติมากขึ้น “ยางพารา หรือยางธรรมชาติ” ถือเป็นวัสดุที่อุตสาหกรรมให้ความสนใจ และในกรณีนี้คือ ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่ เอ็มเทค สวทช. มีอยู่ในรูปความลับทางการค้า จึงสามารถตอบโจทย์ของบริษัทเอกชนที่ต้องการผลิตกรวยจราจรที่มียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ เพื่อผลิตเป็นกรวยจราจรเกรดพิเศษโดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR)  จากเดิมที่ผลิตจากพลาสติกประเภทเอทิลีนไวนิลแอซีเทตโคพอลิเมอร์ (Ethylene Vinyl Acetate Copolymer, EVA)   

“จากที่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ยางพาราหรือยางธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้เพิ่มชนิดและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มากขึ้น จึงเกิดการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในการคมนาคมภายในประเทศมากขึ้น เช่น หลักกิโลเมตร แนวกันโค้ง และแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต เป็นต้น กรวยจราจรก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและมีการใช้งานแพร่หลายในปริมาณมาก และเป็นโจทย์วิจัยที่ผู้ประกอบการต้องการให้ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นกรวยจราจรที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติ มีสมบัติยืดหยุ่น ไม่แตกหักง่ายเมื่อถูกรถเหยียบ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนและต่อยอดไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้” ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าว

นายวษุวัต บุญวิทย์ ผู้บริหาร บริษัท ธนัทธร จำกัด กล่าวถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาของ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์จราจรฯ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามาบริษัทพยายามสนับสนุนการใช้ยางพาราในผลิตภัณฑ์ต่างๆ หากทำได้ เช่น การผลิตหลักกิโลเมตรจากยางพารา ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตกรวยจราจรซึ่งมีส่วนผสมของยางพารา เพื่อสร้างความแตกต่างและปรับปรุงสมบัติของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น เนื่องจากกรวยจราจรผลิตอยู่นั้นทำจากพลาสติก 100% ถึงแม้จะเลือกใช้พลาสติกที่มีความยืดหยุ่น เช่น EVA แต่หากสามารถผลิตกรวยจราจรจากยางธรรมชาติได้ น่าจะทำให้กรวยจราจรนั้นยืดหยุ่น และทนทานมากขึ้นหากโดนรถทับหรือเฉี่ยวชน เมื่อใช้งานจริงบนท้องถนน จึงได้ติดต่อกับทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. เพราะทราบว่า มีผลงานนี้พร้อมถ่ายทอดฯ จากนั้นจึงได้ร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์ และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก นำมาสู่การผลิต “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ซึ่งได้จัดจำหน่ายกรวยยางชนิดใหม่นี้เรียบร้อยแล้ว ในขณะนี้บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อจดแจ้งผลิตภัณฑ์ “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ให้อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยอีกด้วย

“บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก สวทช. ในการเตรียมยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกสำหรับผลิตกรวยจราจรเรียบร้อยแล้ว ก่อนหน้านี้บริษัทได้ทดลองผลิต “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” และได้ทดสอบการใช้งานจริง พบว่า สมบัติที่ได้ตรงตามความต้องการของบริษัท นอกจากนี้การที่ “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” มีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ยึดเกาะถนนได้ดีขึ้น เวลารถวิ่งผ่าน ไม่ปลิวไปได้ง่ายเหมือนกรวยพลาสติก ทั้งนี้จากที่บริษัทฯ ได้ผลิตและจัดจำหน่ายกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก บริษัทได้การตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างดี จึงได้เพิ่มการผลิต “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” อย่างต่อเนื่อง จึงเห็นได้ว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิต “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” นี้ ส่งผลให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการตลาดได้มากขึ้นอีกด้วย”

ดร.ภาสรี เล้ากิจเจริญ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. กล่าวถึงเทคโนโลยีการผลิตยางผสมพลาสติก หรือ ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) ว่าเป็นการผสมยางธรรมชาติและพลาสติกเข้าด้วยกันในเครื่องอัดรีดสกรูคู่ (Twin Screw Extruder) ร่วมกับเทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชันทำให้ได้ ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ เมื่อนำไปฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องฉีดพลาสติก (Injection Molding Machine) จึงได้ผลิตภัณฑ์กรวยจราจรที่มีลักษณะและผิวสัมผัสเหมือนยางซึ่งมาจากส่วนผสมยางธรรมชาติ 30 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาได้ร่วมทดสอบสมบัติเบื้องต้นและสมบัติการใช้งานจริง กับ บริษัท ธนัทธร จำกัด ประมาณ 1 ปี ขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทแล้ว และบริษัทฯ ได้เดินหน้านำไปผลิตตามมาตรฐานทันทีอีกกว่า 7 ตัน โดยผู้ประกอบการได้ซื้อยางแท่งจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พันธมิตรภาครัฐที่สำคัญของ เอ็มเทค สวทช. มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการใช้งานและแปรรูปยางพาราในประเทศไทย

“เหตุผลแรกที่ผู้ประกอบการเดินเข้ามาหา ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. เพราะต้องการหาเทคโนโลยีที่จะใช้ยางธรรมชาติมาเป็นส่วนผสมของกรวยจราจรพลาสติกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท เมื่อ ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. มีองค์ความรู้ ทั้งสูตรและกระบวนการที่สามารถทำได้ จึงทดลองปรับสูตรให้ตรงกับสมบัติที่บริษัทต้องการ ร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก จำนวน 500 กิโลกรัมได้สำเร็จ ในระหว่างนั้น บริษัทฯ ได้นำยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกไปผลิตเป็นกรวยจราจร และทดลองใช้งานจริงได้พบว่ากรวยจราจรชนิดใหม่นี้ ทนต่อการฉีกขาด และทนทานต่อการแตกหักได้สูงขึ้น เนื่องจากมีส่วนผสมของยางพารา นอกนั้นยังสามารถขึ้นรูปได้สะดวก รวดเร็วขึ้น แกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ได้ง่าย ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และยังเกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยลง”

ดร.ภาสรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นวัตกรรม ‘กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ นี้ นอกจากเพิ่มความทนทานต่อการแตกหัก และพับงอ ยังทำให้กรวยจราจรยึดเกาะพื้นผิวถนนได้ดีขึ้น เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นราว 0.2 กิโลกรัมต่อชิ้น และมียางพาราหรือยางธรรมชาติที่ยืดหยุ่นเป็นส่วนผสม อีกประเด็นที่สำคัญคือ การเลือกใช้งานวัสดุประเภท “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” นี้ ยังสามารถทำให้ขึ้นรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติก ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ตามนโยบาย BCG Economy Model ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้ยางพาราในประเทศ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพารา และส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำอีกด้วย

          นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยที่ผ่านมา กยท. ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สนับสนุนให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น ได้แก่ การสนับสนุนเงินทุนให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปยาง เช่นครั้งนี้ กยท. สนับสนุนและส่งเสริมโครงการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ให้แก่ เอ็มเทค สวทช. ในปี 2565 นี้ ถือเป็นการนำยางพาราเข้าไปทดแทนพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุพอลิเมอร์ที่มาจากปิโตรเคมี ถึง 30% โดยน้ำหนัก ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานที่มุ่งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ยางของไทยมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ขณะนี้ กยท. มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจยางพาราโดยวางแนวทางการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต รวมถึงปรับปรุงวิธีการทำสวนยางของเกษตรกรรายย่อยในประเทศ ให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องและมาตรฐานสากล เพื่อให้ผลผลิตยางของไทยเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งปัจจุบัน กยท. ดำเนินกิจกรรม Rubber Way โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสวนยางรวมถึงตัวเกษตรกรเองให้ตรงตามมาตรฐานและความต้องการของบริษัทผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ เบื้องต้น กยท. ได้ลงนามความร่วมมือกับมิชลินแล้ว แน่นอนว่าสิ่งนี้ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถและโอกาสด้านการแข่งขันทางธุรกิจ เกิดความมั่นคงด้านรายได้แก่เกษตรกรฯ

          “การพัฒนายางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกภาคส่วนควรกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ ตั้งแต่การบริหารจัดการและสร้างมาตรฐานภายในสวนยาง (ต้นน้ำ) ไปจนถึงกระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา (ปลายน้ำ) สอดคล้องกับนโยบาย BCG MODEL ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล (Green Economy) ก่อให้เกิดความยั่งยืนกับยางธรรมชาติทั้งห่วงโซ่อุปทาน”

Leave a Reply

Your email address will not be published.