สพฉ. ผนึก A-MED และองค์กรพันธมิตร ใช้ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ขับเคลื่อนการแพทย์ฉุกเฉิน
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. จับมือ 8 พันธมิตร ร่วมปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือการปฏิบัติการและให้บริการในรูปแบบดิจิทัล (EMS Digital Transformation) ขับเคลื่อนภารกิจด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยข้อมูลอย่างเต็มตัว (EMS Data-Driven) นำไปสู่การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ เท่าเทียม ทั่วถึง และมีมาตรฐาน ให้กับประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
นาวาเอกนายแพทย์พิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า “สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญของการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการแพทย์ฉุกเฉิน และการขับเคลื่อนภารกิจด้านการแพทย์ฉุกเฉินด้วยข้อมูล เพื่อนำไปสู่การยกระดับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินในรูปแบบดิจิทัลทั้งระบบ จึงได้ส่งเสริมและผลักดันให้เกิดโครงการการปฏิรูประบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และจัดทำเครื่องมือสำหรับการบริหารจัดการข้อมูล หรือ เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการบูรณาการ แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของทั้งประเทศ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ชื่อโครงการว่า National EMS Data Exchange Platform องค์ประกอบที่สำคัญของแพลตฟอร์มกลางดังกล่าว ได้แก่ นโยบายธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) มาตรฐานชุดข้อมูล (Data Set and Standard) มาตรฐานการเข้าถึงข้อมูล (Data Access Control) การบริหารจัดการข้อมูลเชิงคุณภาพ (Data Quality Control) การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security Control) โดย มีเป้าหมายเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบและเป็นมาตรฐานของประเทศ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้เรียนเชิญผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งสิ้น 8 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) หรือ DGA ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข บริษัท Coraline บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) บริษัท Microsoft มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ ร่วมแถลงข่าว ความร่วมมือ บทบาทหน้าที่ และภารกิจที่เกี่ยวข้อง ในการสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการฯ ดังกล่าว”
ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ A-MED สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า “ ก่อนหน้าที่จะมีโครงการตามความร่วมมือนี้ A-MED สวทช. ได้ช่วยพัฒนาศูนย์รับเรื่องและจ่ายงานฉุกเฉินทางการแพทย์ หรือ D1669 อันประกอบด้วย ส่วนแรก คือ การพัฒนาระบบ Call Center ที่แต่เดิมรับได้ในช่องทางเสียง มาเป็นแบบ Total Conversation มารองรับการสนทนาแบบ ภาพ เสียง ข้อความ และพิกัดตำแหน่งผู้โทร มีการเชื่อมกับศูนย์ล่ามภาษามือของศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรีอ TTRS และศูนย์ล่ามภาษาต่างประเทศของตำรวจท่องเที่ยว ทำให้ประชาชนทั่วไป คนพิการทางการได้ยิน นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ สามารถเข้าถึงบริการฉุกเฉินทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และส่วนที่สอง คือ การพัฒนา Telemedicine บนรถปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ ทำให้แพทย์อำนวยการเห็นข้อมูลสัญญาณชีพและ Video Call คุยกับเจ้าหน้าที่บนรถปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยในช่วงนำส่งโรงพยาบาล และโรงพยาบาลก็ทราบข้อมูลในช่วงส่งต่อทำให้เมื่อถึงโรงพยาบาลก็สามารถรักษาต่อได้ทันที“
สำหรับบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของ A-MED สวทช.ในการเข้าร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ A-MED สวทช. จะได้ดำเนินการพัฒนาใน 4 ส่วนคือ ส่วนที่1 Data lake สำหรับการจัดเก็บข้อมูลกลางที่มีขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Big Data มีความยืดหยุ่นในการรองรับข้อมูลทุกอย่าง และขยายขนาดได้ ส่วนที่2 คือ EMS Gateway เป็นช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อมูลใน Data lake ออกแบบให้มีความปลอดภัยทางไซเบอร์, รองรับการเรียกใช้งานพร้อมกันได้ และบันทึกข้อมูลการเรียกใช้ เพื่อตรวจสอบย้อนกลับ ส่วนที่3 Single Sign-On (SSO) เป็นระบบยืนยันตัวบุคคลกลางที่ให้ทุก Service มาเรียกใช้ ทำให้สะดวกต่อผู้ใช้งานใช้ User และ password เดียวก็สามารถเข้าทุก Service และส่วนที่4 เชื่อมต่อ EMS Gateway เข้ากับ D1669 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายนอกกับศูนย์รับเรื่องและจ่ายงานประจำจังหวัด เช่น การเชื่อมต่อกับ DGA-RC ของ สพร. เพื่อส่งข้อมูลผู้ป่วย Covid-19 เคสสีแดงที่อยู่ Home Isolation ไปที่ระบบ D1669 ของศูนย์รับเรื่องและจ่ายงานฉุกเฉินทางการแพทย์ประจำจังหวัดให้จัดรถไปรับผู้ป่วยที่บ้านไปส่งโรงพยาบาล” รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากอำนาจหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน 2551 ตามมาตรา 15 (3) คือการจัดให้มีระบบปฏิบัติการฉุกเฉินรวมถึงการบริหารจัดการและการพัฒนาระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินแล้วนั้น การได้มีโอกาสในการดำเนินโครงการดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านการบูรณาการ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังทำให้ ลดต้นทุนในการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวนี้ในภาพรวมของประเทศ สุดท้ายประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง มีมาตรฐาน ทันสมัย และมีความยั่งยืน