สทน. สยายปีกเตรียมเดินสายให้บริการต่างประเทศ ปี 64 กวาดรายได้ 105 ลบ. สร้างมูลค่าได้ 16,000 ลบ.

          รศ.ดร.ธวัชชัย  อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า เนื่องจาก สทน. เป็นองค์กรหลักของประเทศการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ  นอกเหนือจากการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวแล้ว สทน. มีภารกิจสำคัญในการให้บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์แก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน  มีหน่วยงานที่ให้บริการ 5 ศูนย์ คือ ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ศูนย์ไอโซโทปรังสี ศูนย์ฉายรังสี ศูนย์จัดการกากกัมมัตรังสี  ศูนย์วิศวกรรมนิวเคลียร์  ในแต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้ สทน. ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 105 ล้านบาท แต่มูลค่าทางเศรษฐกิิจที่เกิดขึ้นจากการให้บริการของ สทน. กลับได้มากถึง 16,000 ล้านบาท นอกเหนือจากการให้บริการในประเทศแล้ว สทน. มีแนวคิดที่จะขยายขอบเขตการให้บริการประเทศในกลุ่มอาเซียนอีกด้วย

          ดร.ธนรรจน์  แสงจันทร์ ผู้จัดการศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์ สทน. เปิดเผยว่า ในแต่ละปีศูนย์ทำรายได้จากการให้บริการด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ประมาณปีละ 40-50 ล้านบาท  ซึ่งมาจากการให้บริการใน 3 ด้าน คือ การตรวจวิเคราะห์โดยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ เช่น การตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร ตรวจวัดรังสีที่ปนเปื้อนในอาหารนำเข้า-ส่งออก การวิเคราะห์ธาตุจากวัตถุตัวอย่าง  2) การตรวจวัดและประเมินรังสี ในบุคลากรทีี่ทำงานเกี่ยวกับรังสี  หรือใช้เครื่องมือที่มีรังสี  การสอบเทียบเครื่องวัดรังสี ตรวจสอบความปลอดภัยเครื่องกำเนิดรังสี 3) บริการเทคนิคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการนำเครื่องมือที่ใช้เทคนิคทางด้านรังสีหรือนิวเคลียร์ไปให้บริการตรวจวิเคราะห์ภายในโครงสร้างทางอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การตรวจสอบความผิดปกติของท่อส่งแก๊ส  การตรวจสอบความผิดปกติของโครงสร้างภายในหอกลั่นปิโตรเลียมในระหว่างการผลิต ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการตัดสินใจของผู้ประกอบการสำหรับการเตรียมตัวซ่อมบำรุงตามวงรอบเวลาที่กำหนดไว้  ในอดีตการตรวจสอบด้านนี้ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ 

ปัจจุบัน สทน. เป็นผู้ให้บริการเพียงรายเดียว จึงช่วยลดการพึ่งพาจากต่างประเทศได้  ในภาวะปกติ ศูนย์บริการเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะมีรายได้จากการบริการในส่วนนี้ประมาณปีละ 10 ล้านบาท  แต่เมื่อเกิดปัญหาโควิด-19 โรงกลั่นปิโตรเลียมลดการตรวจสอบลง อีกทั้งไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าในโรงกลั่น รายได้จากการบริการตรวจสอบจึงลดลงเหลือประมาณ 5-6 ล้านบาท   สทน. จึงพยายามขยายการให้บริการไปตรวจสอบโรงกลั่นประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เพราะมีแท่นขุดเจาะน้ำมันและโรงกลั่นอยู่หลายแห่ง  จากการที่ได้พูดคุยในเบื้องต้น อินโดนีเซียให้ความสนใจค่อนข้างมากเพราะต้องใช้บริการจากต่างประเทศอยู่แล้ว  อีกทั้งผู้ให้บริการด้านนี้มีน้อย  อินโดนีเซียจึงให้ความสนใจ สทน. ค่อนข้างมาก ขณะนี้กำลังอยูระหว่างการเจรจา  สำหรับประเทศที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือ ฟิลิปปินส์ ดร.ธนรรจน์ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published.