สวทช. – จุฬาฯ ผนึกกำลัง ศึกษาชีววิทยายุคใหม่ ด้วย ‘วิทยาศาสตร์โอมิกส์’ ป้องกัน-ฟื้นฟูภาวะขาดสมดุลสิ่งแวดล้อม

(เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565) ณ ห้องประชุม 203 ชั้น 2 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “ด้านการวิจัย พัฒนา และ วิชาการ เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพและฐานข้อมูลของประเทศไทย” เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพ และนำข้อมูลที่มีค่าของทรัพยากรมาพัฒนาต่อยอดเป็นระบบสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทรัพยากรชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในงานวิจัยใหม่ ๆ และเกิดการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ยังคงรักษาสมดุลในการใช้ทรัพยากรตามกรอบความคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG “เพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” จากการต่อยอดจุดแข็งของประเทศในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ด้วยการใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ประกอบด้วย Bioeconomy (ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร Circular Economy (ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน) และ Green Economy (ระบบเศรษฐกิจสีเขียว) ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหามลพิษเพื่อลดผลกระทบต่อโลก และเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

ดร.ลดาวัลย์ กระแสร์ชล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างเสริมการวิจัยและพัฒนา จนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ พร้อมส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งภารกิจหนึ่งของ สวทช. คือการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านกลุ่มวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของประเทศช่วยเสริมฐานความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในประเทศไทย ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ หรือ NBT เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของ สวทช. ที่มีบทบาทหลักในการใช้ วทน. และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ชั้นนำ มาช่วยสนับสนุนกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพอันมีค่าของประเทศ โดย NBT มีคลังจัดเก็บทรัพยากรชีวภาพแบบระยะยาวที่เป็นฐานที่สำคัญ ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเกิดภาวะวิกฤตของการสูญเสียทรัพยากรชีวภาพอย่างถาวรในธรรมชาติ

นอกจากนี้ NBT ยังเป็นแหล่งอ้างอิงของข้อมูลทรัพยากรชีวภาพที่น่าเชื่อถือพร้อมกับการนำเอาข้อมูลระดับจีโนม และสารสนเทศอื่น ๆ ที่เกิดจากการวิจัยบนทรัพยากรชีวภาพเหล่านี้มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นระบบสารสนเทศเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจและสร้างองค์ความรู้ใหม่ในวงการวิจัย กิจกรรมของ NBT สนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรในประเทศ และนานาชาติ ผลักดันให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยที่ยังสามารถเก็บรักษาหรืออนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพไว้ได้อย่างยั่งยืน

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนา และ วิชาการ เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพและฐานข้อมูลของประเทศไทย ในครั้งนี้ คือการวิจัยและพัฒนาร่วมกันเพื่อรวบรวม จัดเก็บ และต่อยอดนวัตกรรม เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพและฐานข้อมูลของประเทศ อันครอบคลุม จุลินทรีย์ พืช และสัตว์ ในนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลองค์ความรู้และประสบการณ์ของบุคลากร ทรัพยากร และการผลักดันโครงการสําคัญระดับประเทศ ระหว่างทั้งสององค์กร และก่อให้เกิดการศึกษาชีววิทยายุคใหม่และเป็นเทคโนโลยีที่สนับสนุนการวิจัยให้ได้พัฒนาอย่างรวดเร็วทั่วโลกที่ เรียกว่า วิทยาศาสตร์โอมิกส์ประเทศไทยซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นอุตสาหกรรมสําคัญ ทําให้ข้อมูลองค์ความรู้และการบริหารจัดการทรัพยากรจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันภาวะขาดสมดุลและฟื้นฟูสมดุลของสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา

ทั้งนี้ประเด็นความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่คิด และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมทั้งจีนซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลจุลินทรีย์ของโลก (World Data Center for Microorganisms, WDCM) ที่มีการรวมกลุ่มกันทั้งในระดับประเทศและเครือข่ายระดับนานาชาติ เพื่อต่อยอดการสร้างฐานข้อมูลและนวัตกรรมการบริหารจัดการคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่สําคัญและมีคุณค่านี้

Leave a Reply

Your email address will not be published.