วิศวกรไทยเดินหน้าทดสอบระบบดาวเทียม THEOS-2A เต็มรูปแบบ ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศต้นปีหน้า
ดาวเทียม THEOS-2A (ธีออส-2เอ) เดินทางถึงประเทศไทยเพื่อเตรียมทดสอบระบบการทำงาน ณ ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายในพื้นที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2A เป็นหนึ่งในดาวเทียมจำนวนสองดวงของโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา หรือ THEOS-2 ถือเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีมาตรฐานระดับ Industrial Grade ดวงแรกของไทย ที่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทย ดาวเทียมดังกล่าวมีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 100 กิโลกรัม และสามารถบันทึกภาพที่มีรายละเอียดประมาณ 1 เมตร ต่อ Pixel
THEOS-2A ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นโดยทีมวิศวกรดาวเทียมไทยกว่า 20 คน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างดาวเทียมและทีมวิศวกร Co-engineering จากบริษัท AIRBUS และบริษัท Surrey Satellite Technology หรือ SSTL มาตั้งแต่ปี 2562 และทีมวิศวกรไทยได้รับความไว้วางใจจากทีมผู้เชี่ยวชาญของ SSTL ให้พัฒนา ระบบเซนเซอร์และกล้องถ่ายภาพ ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนแบบร่าง ออกแบบ และทดสอบ รวมถึงการประกอบเข้ากับตัวดาวเทียม โดยเน้นการเลือกใช้ระบบการทำงานของอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีจำหน่ายในตลาดอยู่แล้ว (commercial off the shelf) นำมาประกอบเพื่อความคุ้มค่า มีราคาเหมาะสม และสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาดาวเทียมในอนาคตได้
การทดสอบระบบการทำงานของ THEOS-2A ที่ประเทศไทยในครั้งนี้ จะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน โดยจะมีการทดสอบดาวเทียมทั้งระบบ ตั้งแต่การทดสอบความสามารถในการรับแรงสั่นสะเทือนของดาวเทียมเพื่อให้มั่นใจว่าดาวเทียมจะไม่เกิดความเสียหายในขณะที่มีการนำส่งขึ้นสู่อวกาศ การทดสอบเพื่อหาค่าโมเมนต์ความเฉื่อยสำหรับการควบคุมการทรงตัว การทดสอบการทำงานของดาวเทียมเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิร้อน-เย็นในสภาวะสุญญากาศ การทดสอบฟังก์ชันการควบคุมและการรับส่งสัญญาณในระหว่างนำส่งขึ้นสู่อวกาศ และการปฏิบัติตามภารกิจในขณะที่อยู่ในอวกาศให้เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ การทดสอบระบบสายอากาศและระบบสื่อสาร การทดสอบระบบปฏิบัติการดาวเทียม ตลอดจนการจำลองระบบควบคุมภาคพื้นดินที่จะต้องทำงานร่วมกับดาวเทียม เป็นต้น
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวย้ำอีกว่า เป้าหมายของโครงการ THEOS-2 คือ การเสริมสร้างศักยภาพพัฒนาอุตสาหกรรมดาวเทียมและบุคลากรของประเทศ ซึ่งนอกจากทีมวิศวกรไทยจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาแล้ว ทาง GISTDA ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนประกอบดาวเทียม เพื่อยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศให้สามารถเข้าสู่ Space Value Chain ได้ในระดับสากล