วว. ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา “ผงสีย้อมผ้า หลากสีสันจากแก่นฝาง” ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างเครือข่ายช่างทอให้เกิดเป็นชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ประสบผลสำเร็จวิจัยและพัฒนา “ผงสีย้อมผ้า หลากสีสันจากแก่นฝาง” จากการร่วมมือดำเนินงานกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างเครือข่ายช่างทอให้เกิดเป็นชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหม ของจังหวัดมหาสารคาม มีการย้อมเส้นด้ายหรือผ้าไหมจากสีสังเคราะห์เป็นส่วนใหญ่ และมีการย้อมด้วยสีธรรมชาติบ้าง จากการดำเนินงานของ วว. พบว่า ในพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม มีพืชหรือต้นไม้ท้องถิ่นหลายชนิดที่สามารถนำมาเป็นแหล่งให้สีจากธรรมชาติได้ แต่ยังไม่นำมาใช้สำหรับงานย้อมมากนัก เนื่องจากสีย้อมธรรมชาติให้สีแตกต่างกันในการย้อมแต่ละครั้ง วว. จึงนำทรัพยากรท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาในท้องถิ่น โดยทีมนักวิจัยมีแนวคิดต้องการปรับปรุงสมบัติของสีธรรมชาติให้มีคุณภาพดีขึ้น และสามารถควบคุมความเข้มของโทนสีได้ โดยนำมาแปรรูปสกัดเป็นผงสีสำหรับนำมาใช้ในการย้อมผ้า

“ผงสีย้อมผ้า หลากสีสันจากแก่นฝาง” คือ ผลสำเร็จจากงานวิจัยและพัฒนาของ วว. นักวิจัยได้คัดเลือก “ต้นฝาง” ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นในจังหวัดมหาสารคามมาเป็นวัตถุดิบหลัก โดยนำแก่นฝางมาผ่านกระบวนการสกัดแปรรูปเป็นผงสีธรรมชาติ ลักษณะของผงสีที่ได้เป็นโทนสีแดง ใช้สำหรับย้อมเส้นฝ้าย เส้นไหม หรือผ้าทอ ใช้งานง่าย มีความสะดวก และสามารถเก็บไว้ใช้นอกฤดูกาลของวัตถุดิบได้

จุดเด่นของผงสีจากแก่นฝาง คือ สามารถควบคุมความเข้ม-อ่อนของโทนสีได้หลายเฉด ตามความต้องการของผู้ใช้งาน เช่น สีแดง สีม่วง สีชมพู สีน้ำตาลทองแดง เป็นต้น ทำให้เกิดเฉดสีใหม่และพัฒนาเฉดโทนสีผ้ารูปแบบใหม่ให้ร่วมสมัยมากขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับสินค้าให้ทันสมัยสวยงามตรงความต้องการของลูกค้า

จากความสำเร็จดังกล่าว วว. ได้เข้าร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์เส้นไหมย้อมด้วยผงสีแก่นฝาง และถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการย้อมเส้นไหมด้วยผงสีแก่นฝาง เพื่อให้ได้เฉดสีต่าง ๆ ให้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม เพื่อนำพืชท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ โดยการแปรรูปเป็นผงสี ใช้สำหรับการย้อม เพื่อเพิ่มศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนทั้งด้านการย้อมเส้นไหม และขยายช่องทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. มุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับวัสดุสุขภาพและการแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับวัสดุพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังให้บริการวิเคราะห์ทดสอบสมบัติจองวัสดุเซรามิก แร่ พลาสติก พอลิเมอร์ ยางพารา ทางด้านกายภาพ ทางเคมีและทางกล

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9443  หรือที่ E-mail :  malinee@tistr.or.th และ siriporn@tistr.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.