บอร์ดนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดผลกระทบด้านนิวเคลียร์และรังสีต่อประเทศไทย

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ มอบหมายให้ ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่ผ่านมา และพิจารณาผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในด้านการแพทย์ การเกษตร โภชนาการ อุตสาหกรรมและพลังงาน เป็นต้น รวมทั้งการพิจารณาเร่งรัดออกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการควบคุมและใช้งานเครื่องมือ อุปกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับทางนิวเคลียร์และรังสี เพื่อให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัยต่อประเทศ สิ่งแวดล้อมและสาธารณชน และจัดทำกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายให้มีความชัดเจน เป็นธรรม

 ในการนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานสรุปเกี่ยวกับการประมวลสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียด้านนิวเคลียร์และรังสีที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ของยูเครน  และการเตรียมความพร้อมในการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของไทย โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 คณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติได้เห็นชอบแผนฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2564-2570 ซึ่งเป็นแผนสนับสนุนและอยู่ภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยนำเอาข้อกำหนดด้านความปลอดภัย (Safety Requirements) และมาตรฐานด้านความปลอดภัย (Safety Standards) ในการเตรียมความพร้อมและการตอบสนองกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency ; IAEA) มาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้สั่งการให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ รวมทั้งเฝ้าระวังภัยทางรังสีจากการเฝ้าตรวจระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสีในอากาศของประเทศไทยและทวีปยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านระบบต่าง ๆ อาทิ สถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศของไทย จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ ระบบเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศในทวีปยุโรป ระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ และการจัดเตรียมด้านบุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์ให้พร้อมหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โดยมีการฝึกซ้อมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัยทั่วประเทศ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมาด้วย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มเลขานุการคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 4111

Leave a Reply

Your email address will not be published.