วว. ล้ำพัฒนาระบบและอุปกรณ์ใช้ตรวจวัดน้ำหนักรถไฟ & ติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางราง เพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย การขนส่งสินค้า ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติในอนาคต
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ประสบผลสำเร็จพัฒนาระบบอุปกรณ์วัดน้ำหนักรถไฟแบบพลวัตร ที่สามารถตรวจวัดน้ำหนักรถไฟและน้ำหนักของตู้สินค้าได้ขณะแล่นบนราง และสามารถติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางรางเชื่อมต่อกับการขนส่งทางถนนได้ โดยได้รับงบสนับสนุนการวิจัยจากกองทุน Perez-Guerrero Trust Fund หรือ PGTF ภายใต้โปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ หรือ United Nations Development Programme, (UNDP) ตั้งเป้าติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้งานใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ระบุช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า เสริมความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าทางระบบรางและทางถนน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติในอนาคต พร้อมต่อยอดการใช้จริงให้กับหน่วยงานรถไฟของประเทศไทย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งเสริมการผลิต local content ระบบรางให้แก่ผู้ประกอบการไทย ในด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการเดินรถขนส่งทางราง
ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ในปัจจุบันให้บริการทดสอบสมรรถนะและรับรองความปลอดภัยชิ้นส่วนระบบราง ให้แก่โครงการก่อสร้างระบบรางในประเทศไทย และโครงการในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดย ศทร. ให้บริการทดสอบในด้านความแข็งแรง การสั่นสะเทือน ความล้า ความคงทน การกระแทก ฯลฯ และยังให้บริการที่ปรึกษาแก่ผู้ประกอบการเพื่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ระบบราง เช่น อุปกรณ์ในงานทาง ระบบห้ามล้อ แคร่ล้อ ชิ้นส่วนประกอบแคร่ล้อ ฯลฯ ทั้งนี้ ศทร.วว. ได้ริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีตรวจติดตามและเฝ้าระวังทางระบบรางเพื่อเสริมสมรรถนะงานซ่อมบำรุง จนประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ระบบและอุปกรณ์วัดน้ำหนักพลวัตรของล้อรถไฟ” หรือ TWD โดยเป็นงานระบบตรวจวัดน้ำหนักรถไฟแบบพลวัตร ซึ่งสามารถวัดน้ำหนักรถไฟและตู้สินค้าได้อย่างแม่นยำขณะแล่นบนราง และสามารถใช้ติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางรางเชื่อมต่อกับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางถนนได้อีกด้วย โดยระบบนี้จะเสริมประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าทางระบบรางและทางถนน ส่งเสริมการผลิต local content ระบบรางให้แก่ผู้ประกอบการไทย ในด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการเดินรถขนส่งทางราง โดยเป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัย ศทร. วว. พัฒนาขึ้นทั้งหมด ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอร์ฟแวร์ โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากกองทุน The Pérez-Guerrero Trust Fund for South-South Cooperation (PGTF) จาก The United Nations Office for South-South Cooperation (UNOSSC) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าทางระบบราง โดยใช้เทคโนโลยีที่ผลิตและคิดค้นขึ้นใช้เองในประเทศ พึ่งพาเทคโนโลยีของตนเองได้ในอนาคต (self-reliance) ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของโปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้กองทุน PGTF
“..เทคโนโลยีที่ ศทร. วว. พัฒนาขึ้น จะช่วยให้หน่วยงานเดินรถไฟ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการเจ้าของตู้สินค้าที่ขนส่งสินค้ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถติดตามสถานะของตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางรางและทางถนนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถบริหารจัดการเวลาและค่าพลังงานในการขนส่งสินค้าตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และระบบนี้จะมีส่วนช่วยในการยกระดับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยแบบ local content ในการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าและเสริมความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าทางระบบรางและทางถนน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติในอนาคต…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆนี้ วว. ได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอรายละเอียดคุณลักษณะของอุปกรณ์และขออนุมัติติดตั้งเพื่อสาธิตการใช้งานอุปกรณ์วัดน้ำหนักรถไฟ ติดตามสถานะและระบุคุณลักษณะรถไฟ ให้แก่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดย ศทร.วว. ได้นำเสนอภาพรวมภารกิจการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการทดสอบระบบราง 2) การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย 3) การยกร่างมาตรฐานระบบรางไทย 4) การวิจัยพัฒนาของ ศทร. ซึ่งมุ่งเน้น Industrial research ในด้าน Operation & Maintenance (O&M) และ 5) การถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนั้นยังได้นำเสนอภาพรวมของโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดน้ำหนักฯ ในเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรางสายตะวันออก สถานีแหลมฉบัง – สถานี ICD ลาดกระบัง โดยจะมีการติดตั้งอุปกรณ์น้ำหนักพลวัตรของล้อรถไฟและ TWD จำนวน 2 สถานี และติดตั้งอุปกรณ์ IDENT ที่ประกอบด้วยกล้องระบุคุณลักษณะ 2 สถานี และอุปกรณ์ระบุตำแหน่งรถจักรจำนวน 3 สถานี ซึ่ง ศทร. วว. ได้เข้าไปสำรวจความพร้อมของสถานีต่างๆ ในเส้นทางดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและรับบริการจาก ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง วว. ได้ที่ โทร.0 2577 9000, 02577 9143 ต่อ 201 และ 304 E-mail : patcharee_a@tistr.or.th https://www.tistr.or.th/rttc/ Facebook Page : https://www.facebook.com/RTTC.TISTR