วช.หนุนนวัตกรรมหน้ากากอนามัยผ้า ป้องกันเชื้อโควิด-19 และผลิตภัณฑ์ป้องกันโรคจำพวกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา ในทั่วทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันวิถีชีวิตของประชาชนก็เปลี่ยนแปลงไปในยุค New Normal มีมาตรการป้องกันต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแต่ก็ยังมีเชื้อโรควนเวียนอยู่รอบตัวเรา จำเป็นต้องระมัดระวังป้องกันตนเองโดยเฉพาะการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเวลาออกนอกบ้าน ซึ่งทางทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมกันผลิตคิดค้นนวัตกรรมหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษ( ผ้าสปันบอนด์ ) ที่สามารถยับยั้งป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19ได้ ซึ่งมีอนุภาคป้องกันเชื้อไวรัสชนิดอื่นรวมถึงเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของรัฐ ที่ให้การสนับสนุนผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำไปเป็นองค์ความรู้ในภาคการผลิตต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทาง วช. ให้การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน เยียวยารักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวมไปถึงผลงานการพัฒนาผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอที่สามารถยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับชุดป้องกันส่วนบุคคลทางการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ผศ.ดร.สิริลักษณ์ เจียรากร หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า กลไกสำคัญในกระบวนการผลิตหน้ากากอนามัยผ้าชนิดพิเศษนี้ ได้นำสารซึ่งมีอนุภาคเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเชิงแสงที่ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพ ให้สามารถเกิดปฏิกิริยาในการทำลายเชื้อก่อโรคได้ทั้งในที่มืดและภายใต้แสงที่มองเห็นได้ ที่มีชื่อว่าอนุภาค AZT เติมแต่งตัวผ้าในขั้นตอนการขึ้นรูปเส้นใยแทนการเคลือบบนผิวผ้า เนื่องจากจะทำให้อนุภาคติดอยู่บนผ้าได้นานและมีความคงทนมากกว่าการเคลือบบนผิวผ้า สำหรับสารตัวนี้มีประสิทธิภาพในการปล่อยแสงอิเล็กตรอนเพื่อทำลายโครงสร้างเซลล์ของไวรัส ทำให้ไวรัสตายลง
ขณะเดียวกันอนุภาคตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงที่ว่านี้ ยังสามารถยับยั้งไวรัสชนิดอื่น ๆ รวมถึงสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและจุลินทรีย์ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ในการผลิตหน้ากากอนามัยป้องกันโรค ชุดกาวน์ หรือวัสดุกรองอากาศ นอกจากอนุภาค AZT จะมีสมบัติในด้านการยับยั้งเชื้อก่อโรคแล้ว ยังมีสมบัติในด้านการสลายสารระเหยอินทรีย์ที่เป็นอันตราย เช่น สารฟอร์มัลดีไฮด์ สารระเหย เบนซีน เป็นต้น ซึ่งสามารถขยายผลโดยการนำสาร AZT นี้ไปเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นใยสั้น หรือ เส้นใยยาว สำหรับการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอในยานพาหนะ เช่น เสื้อผ้า ผ้าคลุมเตียง วัสดุกรุภายในยานพาหนะเป็นต้น ซึ่งขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนจดสิทธิบัตร และได้มีการทำข้อตกลงการนำไปใช้ประโยชน์ ( MOU) กับภาคอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดสากล ในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันโรคโดยฝีมือคนไทย