สหภาพยุโรปและประเทศไทยลงนามความร่วมมือเพื่อผลักดันด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า

สหภาพยุโรปและประเทศไทยได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือใหม่เพื่อสนับสนุนความร่วมมือของนักวิจัยชั้นนำในประเทศไทยและนักวิจัยของสหภาพยุโรปที่ได้รับทุนของสภาวิจัยยุโรป (European Research Council: ERC)

(เมื่อเร็วนี้) ที่สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ณ แอทธินี ทาวเวอร์ ชั้น 10 : ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และศาสตราจารย์ ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ร่วมลงนามเอกสารความร่วมมือในพิธีลงนามความร่วมมือที่จัดขึ้นในวันนี้ ณ สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย โดยความร่วมมือของนักวิจัยชั้นนำในประเทศไทยและนักวิจัยของสหภาพยุโรปที่ได้รับทุนของสภาวิจัยยุโรป (European Research Council: ERC) ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จะมุ่งเป้าสนับสนุนนักวิจัยไทย และผลักดันความร่วมมือระหว่างสภาวิจัยยุโรป หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.)

ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาใช้จัดการกับปัญหาเร่งด่วนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ได้ เช่น การสาธารณสุข การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงด้านอาหาร ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การลงนามความร่วมมือในวันนี้ จะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และหล่อหลอมคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยในประเทศไทยและวงการวิจัยทั่วโลก”

ศาสตราจารย์ มาเรีย เลปติน ประธานสภาวิจัยยุโรปที่เข้าร่วมพิธีผ่านระบบทางไกล กล่าวว่า “เรายินดีกับการริเริ่มความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับการเปิดกว้างของสภาวิจัยยุโรปสู่โลกใบนี้ ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์นั้นนับเป็นสิ่งสากลอย่างแท้จริง และการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเราทุกคน ความร่วมมือนี้จะเปิดโอกาสให้นักวิจัยหัวกะทิจากประเทศไทย ได้ไปร่วมทำงานวิจัยที่ยุโรปกับนักวิจัยที่ได้รับทุนของสภาวิจัยยุโรป ช่วยให้นักวิจัยไทยได้รับประสบการณ์อันมีค่านี้ ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย”

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวว่า “สภาวิจัยยุโรปได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยขั้นแนวหน้าที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ดังนั้นเราจึงมีความยินดีที่นักวิจัยไทยรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ จะได้รับประสบการณ์ ในการทำงานร่วมกับทีมวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยยุโรป เราขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนของคณะกรรมาธิการยุโรปและสภาวิจัยยุโรปในครั้งนี้ เรามั่นใจว่าการริเริ่มความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือในระยะยาวระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าต่อไป”

ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา ผู้อำนวยการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ในฐานะผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ตนขอแสดงความยินดีกับสภาวิจัยยุโรปและ บพค. ในโอกาสที่ได้ริเริ่มความร่วมมือครั้งใหม่นี้ ที่จะเปิดโอกาสให้นักวิจัยหัวกะทิของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการวิจัยได้รับทุนของสภาวิจัยยุโรป โดยที่ผ่านมา มีนักศึกษารวมถึงนักวิจัยจากประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนนับพันคน ที่ได้รับทุนศึกษาต่อและรับทุนเพื่อดำเนินงานวิจัยผ่านโครงการให้ทุนของทวีปยุโรป เช่น Erasmus Mundus, Marie-Sklodowska Curie Actions และ EU Framework Programs for Research and Innovation เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ ได้สร้างประโยชน์นานับประการต่อพวกเขาและต่อวงการวิจัย นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องสานต่อความร่วมมือระหว่างภูมิภาคอาเซียนและทวีปยุโรปให้แข็งแกร่งและลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“การริเริ่มความร่วมมือครั้งใหม่ในวันนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ความประทับใจที่ผมมี ต่อความร่วมมือครั้งใหม่ระหว่างสภาวิจัยยุโรปและ บพค. ครั้งนี้ คือ การมุ่งเน้นด้านความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนนักวิจัย และการบ่มเพาะแนวคิดและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ระหว่างกันและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือนี้ จะช่วยดึงดูดนักวิจัยจากทวีปยุโรปให้มาใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจกรรมวิจัยที่ประเทศไทยมีให้มากขึ้น” ดร.เจนกฤษ์ ระบุ

นอกจากนี้ มาเรีย คริสตินา รุสโซ ผู้อำนวยการฝ่ายแนวทางโลกและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการวิจัยและนวัตกรรมแห่งคณะกรรมาธิการยุโรป รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในครั้งนี้ด้วย

ความร่วมมือดังกล่าว มีชื่อเป็นทางการว่า Administrative Arrangement ซึ่งเป็นกลไกที่เปิดรับนักวิจัยระดับหัวกะทิของประเทศไทย ให้มีโอกาสได้เข้าไปร่วมงานกับทีมวิจัยที่ได้รับทุนของสภาวิจัยยุโรป โดยอิงจากหัวข้อวิจัยที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน บพค.จะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้นักวิจัยไทยสำหรับกิจกรรมดังกล่าว ครั้งนี้ถือเป็นการลงนามครั้งที่ 17 ของสภาวิจัยยุโรป ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างทวีปยุโรปให้เป็นศูนย์รวมนักวิจัยหัวกะทิจากทั่วโลก

• ข้อมูลเพิ่มเติมประเภทการให้ทุนของสภาวิจัยยุโรป

  • ERC Starting Grant สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่มีประสบการณ์การทำงานวิจัยอย่างน้อย 2 ปี และไม่เกิน 7 ปี หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก วงเงินงบประมาณสูงสุดถึง 1.5 ล้านยูโร ในระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ปี
  • ERC Consolidator Grant สำหรับนักวิจัยที่มีประสบการณ์การทำงานวิจัยอย่างน้อย 7 ปี และไม่เกิน 12 ปี หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก วงเงินงบประมาณสูงสุดถึง 2 ล้านยูโร ในระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ปี
  • ERC Advanced Grant สำหรับนักวิจัยอาวุโสที่มีผลงานวิจัยดีเด่นในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี วงเงินงบประมาณสูงสุดถึง 2.5 ล้านยูโร ในระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ปี
  • ERC Proof of Concept Grants สำหรับนักวิจัยที่ได้รับทุน ERC ที่ต้องการศึกษาศักยภาพการตลาดและ/ หรือศักยภาพด้านนวัตกรรมของผลลัพธ์งานวิจัยของตน โดยมอบเป็นเงินก้อนจำนวน 150,000 ยูโร ในระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 18 เดือน
  • ERC Synergy Grants สำหรับการวิจัยเพื่อตอบโจทย์วิจัยขนาดใหญ่ที่ต้องการการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิจัยหลัก 2-4 คน วงเงินงบประมาณสูงสุดถึง 10 ล้านยูโร ในระยะเวลาทั้งสิ้นไม่เกิน 6 ปี

• เงื่อนไขและกลไกการให้ทุนของสภาวิจัยยุโรป
กลไก Implementing Arrangement หรือ Administrative Arrangement นั้น จะมอบเงินสนับสนุนให้ผู้รับทุนได้เป็นเจ้าบ้านเพื่อรับนักวิจัยจากต่างประเทศมาร่วมทีมวิจัยของตน สภาวิจัยยุโรปได้ลงนามความร่วมมือประเภทนี้กับหน่วยงานให้ทุนหลายแห่งทั่วโลก เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนนักวิจัยในระดับนานาชาติ ทุกๆ ปี ผู้รับทุนของสภาวิจัยยุโรปสามารถแจ้งความสนใจที่จะรับนักวิจัยต่างชาติมาร่วมงานไปยัง ERC Executive Agency หลังจากนั้น หน่วยงานให้ทุนของประเทศต่างๆ ที่มีความร่วมมือนี้กับสภาวิจัยยุโรป จะแสดงข้อมูลดังกล่าวให้นักวิจัยในประเทศของตนทราบ เพื่อให้นักวิจัยทั้งสองฝ่ายได้ติดต่อพูดคุย โดยอิงจากความสนใจด้านงานวิจัยที่มีร่วมกัน โดยสภาวิจัยยุโรป และ บพค.จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางเพื่ออำนวยความสะดวกให้นักวิจัยของทั้งสองฝ่ายได้สื่อสารกัน เพื่อสร้างความร่วมมืองานวิจัยและสร้างองค์ความรู้ในระดับนานาชาติต่อไป

• ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับทุนของสภาวิจัยยุโรป
EURAXESS ASEAN จะจัดงานสัมมนาออนไลน์ให้กับนักวิจัยและผู้ที่สนใจในภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุนของสภาวิจัยยุโรป ในวันที่ 11 ตุลาคม 2022 เวลา 15:00 น. ผ่านระบบ Zoom
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ asean@euraxess.net

Leave a Reply

Your email address will not be published.