GISTDA ทดสอบใยกัญชงหาคุณสมบัติเด่น เตรียมใช้งานอุตสาหกรรมอวกาศและการบิน
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของกัญชงกันมาบ้างแล้วในก่อนหน้านี้ ในเรื่องคุณประโยชน์ในด้านต่างๆมากมายทั้งในเรื่องของการสกัดเป็นยา อาหารเสริม น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือน้ำมันหอมระเหยไปจนถึงใช้ถูนวดบรรเทาอาการต่างๆมากมาย ก่อนหน้านั้นสักประมาณ 4-5 ปีเป็นต้นไป ใครเพาะปลูกพืชชนิดนี้หรือมีไว้ครอบครองก็จะมีความผิด มีโทษต่างๆมากมาย จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2560 พืชชนิดนี้ได้รับการอนุมัติจาก ครม.ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ในพื้นที่ที่กำหนด โดยจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง แม่ริม สะเมิง และแม่แจ่ม จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เทิง อ.เวียงป่าเป้า และอ.แม่สาย จังหวัดน่าน 3 อำเภอได้แก่ อ.นาหมื่น อ.สันติสุข และ อ.สองแคว จังหวัดตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มเก่า อ.เขาค้อ และอ.เมือง และจังหวัดแม่ฮ่องสอนในพื้นที่ อ.เมือง
จากกฎกระทรวงในด้านการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 มกราคม 2564 เป็นต้นมา ก่อเกิดเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าต่างๆมากมาย ซึ่งข้อดีของกัญชงมีมากมายมายเลยทีเดียว อาทิ เปลือก สามารถนำมาแปรรูปเป็นเส้นใย ทอเสื้อผ้ามีคุณสมบัติเด่นด้านต้านแบคทีเรีย หรือผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นเส้นใยไฟเบอร์ที่มีความบริสุทธิ์และมีความเด่นด้านความแข็งแรงและทนความร้อนได้สูง หากนำมาบดละเอียดในรูปผงผลิตเป็นคอนกรีตมีความแข็งแรงและทนไฟ ทนความร้อนได้ดี ในส่วนของใบมีปริมาณสาร CBD/THC ต่ำเหมาะแก่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชา ที่ให้รสชาติดีสรรพคุณเกินตัว ทั้งช่วยผ่อนคลาย ช่วยนอนหลับ แก้ปวด บำรุงเลือด นอกจากนี้พบว่าส่วนช่อดอกและเมล็ดที่มีปริมาณสาร CBD/THC สูงสุดขึ้นกับชนิดพันธ์ โดยทั่วไปสาร CBD จะสูงกว่าสาร THC เหมาะแก่การสกัดน้ำมัน เพื่อทำยาและอาหารเสริม หรืออาหารประเภทยา Nutraceutical ดังประกาศในราขกิจจาฯ เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหาร รวมไปจนถึงอุตสาหกรรมอวกาศและการบินก็ไม่สามารถมองข้ามพืชเศรษฐกิจตัวนี้ไปได้ตามข่าวที่ปรากฏในเรื่องการผลิตเครื่องบินเล็กจากใยกัญชง โดยชาวแคนาดา ทำให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงไปอย่างแพร่หลายกับคุณสมบัติที่โดดเด่นจากใยกัญชงและหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศก็กำลังจับตาพร้อมดำเนินการวิจัยกันอย่างจริงจัง
ด้าน ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด ปฏิบัติงานรองผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยถึงคุณสมบัติข้อมูลการผลิตและทดสอบเส้นใยไฟเบอร์ที่ทำจากใยกัญชงเทียบกับใยไฟเบอร์กลาส ซึ่งผลการทดสอบนั้นออกมาว่าเส้นใยกัญชงมีความแข็งแรงกว่าใยไฟเบอร์กลาส 25-30% เทียบต่อน้ำหนัก ทำให้ลดการใช้พลังงานได้ และที่สำคัญมีคุณสมบัติดูดกลืนเสียงได้ดีด้วย ส่วนในด้านผลการทดสอบ tensile strength มีความแข็งแรงกว่าที่เห็นชัดเจนคือ bending strength มากกว่าไฟเบอร์กลาสถึง 30-35% ทีเดียว ดังนั้นในอนาคตการใช้ประโยชน์จากใยกัญชงในรูปแบบของวัสดุคอมโพสิท FRP (Fiber Reinforced Polymer) เราจะเริ่มที่ชิ้นส่วนภายในอากาศยานก่อนหรือใช้ผลิตโครงสร้างทั้งหมดของโดรน ทั้งโดรนเชิงพาณิชย์และโดรนเชิงความมั่นคง หรือโครงสร้างอากาศยานทางทหารที่เป็นเทคโนโลยีล่องหนจากคุณสมบัติดูดซับคลื่นเสียงที่ดี (ต้องมีการผลิตทดสอบในหลายๆ ความถี่ เช่น VHF,UHF, L-Band, S-band, X-band) หรือใช้ลดการแพร่กระจายรังสีจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ทางทหารต่างๆ เพื่อลดการตรวจจับด้วยกล้องรังสีความร้อน เป็นต้น ซึ่งหากสามารถทำได้จะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการปลูก แปรรูปและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดการขยายตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน GISTDA ได้เริ่มนำใยกัญชงมาทดสอบหาคุณสมบัติทั้งด้านความแข็งแรง ทนทาน ด้านความถี่ ด้านอุณหภูมิ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างของอากาศยานไร้คนขับ หรือชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน ซึ่ง GISTDA มีพาร์ทเนอร์ด้านนี้อยู่แล้ว หรือหากมีคุณสมบัติที่เข้ากันได้กับการใช้งานบนอวกาศ ก็เป็นไปได้ที่จะนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในดาวเทียมดวงต่อๆ ไปที่เกิดขึ้นจากการสร้างโดยฝีมือคนไทย ในส่วนของขั้นตอนการทดสอบจะเริ่มอย่างไร ทดสอบที่ไหน พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้คือ เริ่มจากจัดเตรียมข้อมูลมาตรฐานการทดสอบด้านคอมโพสิท โดยในเบื้องต้นจะทดสอบคุณสมบัติเชิงกลเป็นอันดับแรก โดยห้องแลป GALAXI ของ GISTDA ที่ศรีราชา ซึ่งได้รับการรับรอง AS9100 ISO/IEC17025 และ NADCAP จากนั้นเตรียมวัสดุ ผ้าใยกัญชง (ใยธรรมชาติ) เพื่อทำการขึ้นรูปเป็นแผ่นความหนาตามมาตรฐานทดสอบ ตัดและเตรียมชิ้นงานให้ได้ตามมาตรฐานการทดสอบและทดสอบ Tensile Strength หลังจากนั้นสรุปผล เปรียบเทียบคุณสมบัติความแข็งแรง Tensile Strength ของใยกัญชงกับ Fiber glass/Carbon Fiber จากฐานข้อมูล และดำเนินการจัดหา ทดลองใช้เส้นใยไฟเบอร์กัญชง (ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ผลิตเส้นใยไฟเบอร์จากใยกัญชงคือ บริษัทก้องเกียรติเทกซ์ไทล์ จำกัด) ที่บริสุทธิ์กว่าใยกัญชงที่ใช้ทอผ้าทั่วไป ทั้งนี้จากสรุปผลการทดสอบ หากมีข้อได้เปรียบจริงดังข้อมูลอ้างอิง จะต้องสร้างกลไกในการกระตุ้น การผลิต การใช้วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศและการบินให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของประเทศต่อไป เรื่องราวจากใยกัญชงมีความน่าสนใจมาก อนาคตอาจจะค้นพบคุณประโยชน์ที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นก็เป็นได้ เทคโนโลยีเมื่อผสานกับงานวิจัยและองค์ความรู้มักจะก่อเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆที่สร้างคุณค่าให้กับประเทศมากมาย การส่งเสริมและผลักดันงานวิจัยจะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาควบคู่กันไปกับการดำเนินงานในทุกมิติ ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ กล่าว