วว.โชว์กิจกรรม “สถานีสีเขียว…มหัศจรรย์โลกจุลินทรีย์ วว.” ในงานถนนสายวิทยาศาสตร์รับวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2566
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประธานเปิดงานถนนสายวิทยาศาสตร์ ต้อนรับวันเด็กแห่งชาติ 2566 ซึ่งกระทรวง อว. โดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และหน่วยงานในสังกัด อว. ร่วมจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด KIDs SCIENCE : คิดส์สร้างโลก อย่างสร้างสรรค์ ระหว่างวันที่ 13-14 มกราคม 2566 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การค้าเดอะสตรีทรัชดา กรุงเทพฯ ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธกิจกรรม “สถานีสีเขียว…มหัศจรรย์โลกจุลินทรีย์ วว.” ในรูปแบบ “เกม” ตลอดห่วงโซ่อุปทานนำจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจนักวิทย์น้อย ผ่านเกมประเทืองปัญญา 3 รูปแบบ ได้แก่
1) เกม “จุลินทรีย์มาจากไหน” เพื่อพัฒนาการด้านสังคม ส่งเสริมให้เกิดสมาธิ สร้างความสนุกสนานและความท้าทาย
2) เกม “อะไร? คืออาหารจุลินทรีย์” เพื่อฝึกสมาธิและสร้างความมีระเบียบวินัย ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ช่วยให้ข้อต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น
3) เกม “จุลินทรีย์มีประโยชน์อย่างไร” เพื่อฝึกทักษะความจำ/สมาธิ ทักษะความคิดและพัฒนาการมองเห็น การแก้ปัญหาและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
โอกาสนี้ นางปริยะดา วิสุทธิแพทย์ ผอ.สำนักสื่อสารองค์กร นางสาวปัทมา ลิ่วเลิศมงคล ผอ.กองประชาสัมพันธ์ พร้อมทั้งบุคลากร วว. ร่วมให้การต้อนรับ (13 ม.ค. 2566 @ ชั้น 5 เดอะสตรีท รัชดา)
ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ กล่าวตอนหนึ่งในการเปิดงานถนนสายวิทยาศาสตร์ว่า กระทรวง อว. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เยาวชนและคนไทยมีโอกาสเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างมีสาระและสนุกสนาน การจัดงานถนนสายวิทยาศาสตร์ รับวันเด็กแห่งชาติ ถือเป็นอีกหนึ่งการดำเนินงานที่มุ่งเน้นการสร้างศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตั้งแต่ในวัยเยาว์ ผ่านการฝึกฝนวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสังคมแห่งความรู้และสังคมที่มีเหตุมีผล พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการใฝ่เรียน ใฝ่รู้ ทั้งนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดต่อชีวิตประจำวัน สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปบูรณาการกับศาสตร์อื่นๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างสร้างสรรค์ โดยการจัดงานในปีนี้กลับมาจัดอย่างเต็มรูปแบบ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังได้กระจายความสนุกไปสู่เยาวชนในโรงเรียนอีกกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านสื่อการเรียนรู้ที่ส่งตรงไปถึงเยาวชนตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ