นายกฯ และครม. ร่วมแสดงความยินดีเด็กไทยคว้าแชมป์การแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ

วันที่ 6 ธันวาคม 2565 / ก่อนการประชุมคณรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกสันติไมตรี ท่านนายก และคณะรัฐมนตรี เยี่ยมชมผลงานเยาวชนที่คว้าแชมป์ในการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ประจำปี 2565 (World Robot Olympiad 2022) โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผอ.องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง และนายจักรริน จันทรวิสูตร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ให้การต้อนรับ

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า “เวทีนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์สู่สายตาทั่วโลก ต้องขอชื่นชมในความสามารถของเยาวชนไทยทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ระดับนานาชาติจนได้รับรางวัลในเวทีระดับโลกครั้งนี้ กิจกรรมการแข่งขันนอกห้องเรียนในลักษณะนี้จะดึงความสามารถในตัวของเยาวชนออกมาให้เห็นได้ดีกว่าการตั้งหน้าตั้งตาอ่านตำราในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว หวังว่าเยาวชนจะนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอด กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผลงานของเยาวชนในวันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทยอีกมากมาย ที่จะพัฒนาตนเองเพื่อเป็นฐานกำลังปัญญาในการพัฒนาประเทศต่อไป”

ด้าน ผศ.ดร.รวิน กล่าวว่า “สำหรับการประกวดแข่งขันปีนี้ อพวช. ร่วมกับ บริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ส่งตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันฯ รวมทั้งสิ้น 11 ทีม โดยการแข่งขันโอลิมปิกหุ่นยนต์ ระดับนานาชาติ (World Robot Olympiad 2022) เป็นการแข่งขันออกแบบและการสร้างหุ่นยนต์รวมถึงการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมหุ่นยนต์ โดยใช้หุ่นยนต์จาก Lego Education มาทำการแข่งขันกันในระดับประเทศและนานาชาติ โดยตัวแทนเยาวชนประเทศไทยคว้า 2 รางวัลใหญ่มาครองสำเร็จ ได้แก่

รางวัลชนะเลิศ ประเภท ROBOMISSION รุ่น Senior ได้แก่ ทีม ThaiHerbGood นายปพนรัตน์ ฟูใจ และนายเขมินท์ พินิตเกียรติสกุล จากโรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง จังหวัดลำปาง เล่าประสบการณ์การแข่งขันว่า “ในการแข่งขันนั้นตนเองได้ประดิษฐ์หุ่นยนต์และเขียนโค้ดดิ้ง แก้ปัญหาตามภารกิจที่ทีมกรรมการมอบหมาย ในวันแรกเป็นโจทย์ที่ทุกทีมทราบมาล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวมาแข่งขัน ทีมผมอยู่อันดับที่ 20 เมื่อกลับมาถึงที่พักพยายามที่จะตั้งสติให้พร้อมกลับไปแข่งขันในวันที่ 2 ซึ่งเป็นภารกิจแก้ปัญหาที่ได้รับมอบหมายวันนั้น ผลปรากฏว่าทีมผมสามารถแก้ปัญหาได้มากที่สุดจนคว้ารางวัลชนะเลิศได้ครับ” ซึ่งมีนายอรรถพล ชื่นกุล เป็นผู้ควบคุมทีม

รองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภท ROBOSPORTS ได้แก่ ทีม PANYA ROBOT นายโชติพิสุทธิ์ มงคลวิสุทธิ์ นายพิสิษฐ์ มงควิสุทธิ์ และนายวรกร ฤกษ์สมถวิล จากสถาบันปัญญาโรบอท กรุงเทพฯ เล่าประสบการณ์การเข้าร่วมแข่งขันว่า “เป็นการประดิษฐ์หุ่นยนต์และเขียนโค้ดดิ้ง เพื่อตีปิงปองไปฝั่งตรงข้ามให้ได้มากที่สุด โดยในสายที่ทีมตนแข่งขันนั้นประกอบไปด้วย 10 ประเทศ ทีมตนเป็นที่ 1 ของสาย เข้าสู่รอบตัดสิน 4 ทีมสุดท้าย และคว้ารางวัลรองชนะเลิศอัน 2 มาครองสำเร็จ” ซึ่งผู้ควบคุมทีมคือ นายปัญญา สนธิธรรม จากสถาบันปัญญาโรบอท กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ อพวช. และบริษัท แกมมาโก้ (ประเทศไทย) จำกัด เตรียมจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ FIRST LEGO League Thailand 2022/2023 ขึ้น ณ อพวช. คลองห้า ปทุมธานี ในระหว่างวันที่ 2 – 4 กุมภาพันธ์ 2566 โดยขอเชิญชวนน้อง ๆ เยาวชนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่สนใจการพัฒนาและออกแบบหุ่นยนต์ เข้าร่วมการแข่งขันฯ ดังกล่าว โดยสามารถติดตามรายละเอียดได้เร็ว ๆ นี้ ทางเว็บไซต์ www.nsm.or.th หรือ Facebook : NSMThailand

Leave a Reply

Your email address will not be published.