สอวช. ปลื้ม สมัชชาสุขภาพครั้งที่ 15 ประกาศเจตนารมณ์ สนับสนุนการใช้แนวคิดเศรษฐกิจ บีซีจี ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ลดเหลื่อมล้ำ ขจัดยากจนข้ามรุ่น บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภายหลังจาก สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นเจ้าภาพจัดงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15 “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” โดยมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) คือ หนึ่งในภาคีเครือข่าย ที่เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนในมิติ “การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG : การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน ซึ่งถือเป็นนโยบายสาธารณะที่มุ่งตอบโจทย์ประเด็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดย สอวช. ได้จัดประชุมสมัชชาสุขภาพรายประเด็น ระดมความคิดเห็นไปยังจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งจัดประชุมระดมความคิดเห็น ร่วมกับภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคีเครือข่าย ตลอดจนทำประชาพิจารณ์เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีฉันทามติว่าจะผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2565 ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นนโยบายสาธารณะ ที่มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนมีความรู้ รู้เท่าทันและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเสนอแนะแนวทางการบูรณาการในเชิงระบบ โครงสร้าง และประเด็นที่มีความแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Model ที่เป็นการนำองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีอย่างครบวงจร มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติ ทุนทางศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม โดยไม่ขัดกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่ผ่านมา
ดร.กาญจนา กล่าวว่า เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานรากมุ่งเน้นในเรื่องความสามารถด้านการบริหารการเงินโดยการเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย โดยใช้ กรอบนโยบาย ใน 4 มติ คือ 1.การพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลคนจนแบบแม่นยำและมุ่งเป้าควบคู่ไปกับการค้นหาสาเหตุความยากจน 2. การบูรณาการกลไกการทำงานการขจัดความยากจนในระดับพื้นที่ ตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน Bio-Circular-Green Economy: BCG Model 3. การเสริมสร้างศักยภาพมนุษย์ พัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ประกอบการ BCG แก้จน และชุมชน BCG และ 4. การปรับโครงสร้างการบริหารและกลไกสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสสู่กลุ่มฐานราก
“โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบต่อสังคมของทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดเครือข่ายพลังของภาคประชาชนที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมใหม่ ตลอดจนแนวทางการทำงานที่นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพและภาวะแวดล้อม สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการเรียนรู้ การศึกษาและสังคม มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับสังคมและชุมชน ตอบโจทย์การสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตครัวเรือน ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการจัดการในเชิงระบบ ทั้งนี้ การตีความแนวคิดเศรษฐกิจ BCG และการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการฯ จะต้องไม่นำไปสู่การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนทั้งในระดับสังคมและระดับชุมชน สอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย” รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายหลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 โดยจะสนับสนุนให้มีการใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจนข้ามรุ่น และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ด้าน นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ 15 พ.ศ.2565 กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ของทุกฝ่ายในครั้งนี้ ถือเป็นการให้คำมั่นสัญญาที่ทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างฉันทมติและเดินหน้าขับเคลื่อน ในมติที่การขจัดความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจ BCG: การยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือน มีเนื้อหาที่มุ่งให้ทุกภาคส่วนของสังคม มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความยากจน ผ่านการประยุกต์ใช้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรม มาหนุนเสริมทุนทางธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสในการยกระดับเศรษฐกิจครัวเรือนฐานราก