GISTDA จับมือ กรมอนามัย ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมพัฒนางานวิจัยและการบริการด้านสาธารณสุขเชิงพื้นที่
12 มกราคม 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนางานวิจัยและการบริการด้านสาธารณสุขเชิงพื้นที่ ณ ห้องพระอินทร์ 2 ชั้น 2 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการขยายความร่วมมือระหว่าง GISTDA กับ กรมอนามัย เพื่อนำข้อมูลจากดาวเทียมมาประยุกต์ใช้กับงานด้านสาธารณสุขในการวางแผน การบริหารการตัดสินใจและนำข้อมูลมาให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ GISTDA ยังจะสนับสนุนภารกิจอื่นๆของกรมอนามัย อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสาธารณสุขและข้อมูลภูมิสารสนเทศภายใต้โครงการ Open Geospatial Platform การพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสุขภาวะที่ยั่งยืน การพัฒนาระบบสนับสนุนการให้บริการสาธารณสุขเพื่อช่วยลดผลกระทบจากโรคทางเดินหายใจของคนในชุมชนเมือง รวมถึงการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนนวัตกรรมและองค์ความรู้ และการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและด้านการสาธารณสุขของทั้ง 2 หน่วยงาน ที่จะมุ่งเน้นให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้งานได้จริง ซึ่งจะเป็นการสร้างระบบนิเวศในการวิจัยสู่การเป็น One Health One Service อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย เป็นองค์กรหลักของประเทศในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและระบบอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี ซึ่งในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมเศรษฐกิจ โครงสร้างประชากร และภัยสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางตรงและทางอ้อม เป็นความท้าทายสำคัญในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ที่ทำให้ต้องปรับทำงานให้รวดเร็ว แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์ ซึ่งข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อการศึกษาวิจัย คาดการณ์ เตรียมการจัดการและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมอนามัยและ GISTDA ในวันนี้ จะมีประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งต่อ กรมอนามัยและหน่วยงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ประกอบการกำหนดนโยบาย การวางแผนและการตัดสินใจในประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญในระดับพื้นที่ เช่น ปัญหามลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และรวมถึงปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพต่อไป