GISTDA ร่วมธัชวิทย์ พัฒนาหลักสูตรด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เตรียมผลิตบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูง

25 พฤษภาคม 2566 : GISTDA ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานอุดมศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานเอกชน รวมทั้งสิ้น 26 หน่วยงาน ภายใต้โครงการ “ธัชวิทย์” หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนากำลังคนด้านวิทย์สมรรถนะสูง โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานและสักขีพยาน ซึ่งภายหลังการลงนามร่วมแล้ว ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ให้การต้อนรับและนำชมนิทรรศการ THEOS-2 และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นิทรรศการ THEOS-2 และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

“ธัชวิทย์” มีกลไกขับเคลื่อนใน 3 มิติ ได้แก่ 1) Frontline Think Tank หรือคลังความคิดนักวิทย์เพื่อเป็นศูนย์กลางของผู้เชี่ยวชาญ 2) Frontier Science Alliance การทำวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier research)ผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจและสังคม และรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ และ 3) Future Graduate Platform หรือการสร้างและพัฒนาบัณฑิตวิทยสมรรถนะสูงที่พัฒนาจากความร่วมมือของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน

ดร.ปกรณ์ เพ็ชรประยูร โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ GISTDA จะร่วมพัฒนาหลักสูตรด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อสำรวจการกักเก็บปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริง การสำรวจพื้นที่ภาคสนามเราไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้ และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าฯ ได้อย่างถูกต้องเพียงพอกับการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ อีกทั้งยังประหยัดเวลา แรงงานคนที่ต้องใช้ในการสำรวจภาคสนามและลดความผิดพลาดจากการสำรวจอีกด้วย โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ร่วมกับการตรวจวัดการปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกด์ด้วย เทคนิคความแปรปรวนร่วมแบบหมุนวน ( Eddy covariance technique) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากลในการใช้ตรวจวัดความเข้มข้นและการเคลื่อนที่ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของระบบนิเวศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลในแบบจำลองคณิคศาสตร์เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเครื่องมือประเมินการปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความแม่นยำและเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น และสามารถยกระดับวิธีการตรวจวัดและระดับความถูกต้องของข้อมูลให้อยู่ในระดับสูงที่สุดคือ Tier 3 ทั้งนี้สามารถแสดงผลได้ทั้งแบบรายเดือนและรายปีถือเป็นหลักสูตรการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ ที่มีคุณภาพในระดับสากล เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.