นักวิจัย นาโนเทค สวทช. ต่อยอด Nano Coating สู่น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ “ลดฝุ่นเกาะ-สะท้อนน้ำ” นวัตกรรมตอบโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้านเศรษฐกิจสีเขียว
‘ฝุ่น’ ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของมนุษย์เรา แต่ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะในหน้าแล้งที่ประสิทธิภาพลดลง 6-10% นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาน้ำยาเคลือบผิวโซลาร์เซลล์ ด้วยเทคโนโลยีเคลือบนาโน (Nano Coating) ลดการเกาะของฝุ่น เพิ่มสมบัติสะท้อนน้ำ พร้อมขยับสู่ดีพเทคสตาร์ตอัปในชื่อ “นาโน โค๊ตติ้ง เทค” นำนวัตกรรมหนุนอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์และโซลาร์ฟาร์ม ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก เพิ่มความยั่งยืนทางพลังงาน รับลูกโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยเราคือ การพัฒนาสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษสำหรับพื้นผิวหลากหลายประเภท เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้กับพื้นผิวตามความต้องการ โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งในอุตสาหกรรมผลิตพลังงาน อุตสาหกรรมสิ่งก่อสร้าง พลาสติก กระดาษ รวมถึงพื้นผิวอื่นๆ หนึ่งในนั้นคือ โซลาร์เซลล์ ที่เราพบว่า เทคโนโลยีเคลือบนาโนนี้ สามารถแก้ปัญหาที่กลุ่มผู้ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในระดับโรงงานอุตสาหกรรม โซลาร์ฟาร์ม รวมถึงผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์กำลังเผชิญ
ฝุ่น นับว่า เป็นปัญหาใหญ่สำหรับโซลาร์เซลล์ที่ทำให้ประสิทธิภาพในการรับแสงอาทิตย์ที่จะนำไปผลิตเป็นไฟฟ้าลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในระดับโรงงานอุตสาหกรรมหรือการทำโซลาร์ฟาร์มที่ต้องติดตั้งแผงจำนวนมาก เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน หรือหน้าแล้งนั้น ไทยต้องเจอกับฝุ่นจำนวนมาก ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ลดลง 6-8% และหากเป็นกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเขม่าควันหรือละอองน้ำมันจับที่หน้าแผง ประสิทธิภาพอาจลดลงได้ถึง 9-10%
นักวิจัยนาโนเทคชี้ว่า โดยปกติแล้ว ผู้ประกอบการจะแก้ปัญหานี้ด้วยการทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูง รวมถึงต้องใช้บุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพด้านการทำงานบนที่สูง หากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนที่สูงหรือหลังคา และยังต้องคำนึงถึงความชำนาญในการทำความสะอาด เพื่อลดความเสี่ยงของรอยขีดข่วน ชำรุดของโซลาร์เซลล์ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเช่นกัน
น้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ จากเทคโนโลยีเคลือบนาโน (Nano Coating) ดร.ธันยกร อธิบายว่า เป็นการพัฒนาสูตรขึ้นเป็นพิเศษ โดยปรับค่ามุมสัมผัสของน้ำบนวัสดุ (Water contact angle) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการลดการเกาะของฝุ่นให้แก่พื้นผิว และยังมีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ โดยของเหลวที่ตกกระทบพื้นผิววัสดุที่ผ่านการเคลือบ จะมีลักษณะเป็นก้อนกลมกลิ้งไหลออกจากพื้นผิว ลดการยึดเกาะและชำระล้างฝุ่นรวมถึงสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากแผงโซลาร์เซลล์โดยไม่ทิ้งคราบน้ำ ทำให้แผงผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 ในช่วงหน้าแล้ง
นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังออกแบบและพัฒนาสูตรน้ำยาเคลือบให้ใช้งานง่ายในรูปแบบสเปรย์ และปาดเคลือบ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพพื้นผิววัสดุ ซึ่งเป็นอีกจุดเด่นของสารเคลือบนาโนสูตรพิเศษคือ การลดข้อจำกัดด้านการเคลือบโซลาร์เซลล์ ที่ปัจจุบันในท้องตลาดจะเป็นการเคลือบแบบถาวร ซึ่งการเคลือบถาวรนี้ จะส่งผลให้การรับประกันแผงโซลาร์เซลล์ในระยะเวลา 25 ปี ถูกยกเลิก แต่หากใช้สารเคลือบนาโนนี้ ยังสามารถชำระล้างออกตามธรรมชาติได้ภายใน 1-2 ปี ไม่ส่งผลต่อการรับประกันแผง อีกทั้งยังผ่านการทดสอบความปลอดภัยต่อผู้ใช้
นอกจากประสิทธิภาพต่างๆ ที่โดดเด่นแล้ว เมื่อมองทิศทางของตลาดโซลาร์เซลล์และภาพรวมของพลังงานทางเลือกก็มีแนวโน้มไปในทางบวก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประเมินว่า ตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 65 น่าจะขยายตัวสู่ระดับ 125.9 เมกะวัตต์ หรือเติบโตราว 54.2% จากปี 64 โดยค่าไฟที่จะประหยัดได้จริงของแต่ละธุรกิจขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ ปริมาณการใช้ไฟ เงินลงทุนในการติดตั้งและงบการเงินของกิจการ สำหรับแรงหนุนของตลาดโซลาร์รูฟท็อปภาคธุรกิจในปี 65 คาดว่าจะมาจากกลุ่มธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนการดำเนินธุรกิจจากค่าไฟที่สูง ทั้งธุรกิจในภาคการผลิต ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตซีเมนต์และเหล็ก และธุรกิจในภาคบริการ เช่น โกดังสินค้า โรงแรมและค้าปลีกอย่างห้างสรรพสินค้า ที่เน้นให้ความสำคัญกับการประหยัดต้นทุนและความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะกลางถึงยาว ในขณะที่ผู้ประกอบการโซลาร์รูฟท็อปแข่งขันนำเสนอโมเดลการลงทุนที่จูงใจผู้ประกอบการ ทั้งการช่วยลดภาระจากการลงทุนและบำรุงรักษาโซลาร์รูฟท็อป โดยในระยะข้างหน้าการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปน่าจะทวีความสำคัญมากขึ้น จากกระแสการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม (ESG) รวมถึงแรงผลักดันจากนโยบายภาครัฐในหลายประเทศรวมถึงไทยที่ตั้งเป้ามุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 93 และน่าจะมีการทยอยออกมาตรการผลักดันที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นตามมา
เช่นเดียวกับข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ประเมินว่า อัตราค่าไฟฟ้าโดยรวมของไทยในปี 2566 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึง 5 บาทต่อหน่วย โดยสะท้อนให้เห็นถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริงที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ตลาดโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ในประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดดเฉลี่ยปีละ 22% หรือแตะระดับ 6.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 ส่วนหนึ่งมาจากที่ประเทศไทยค่อนข้างได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยไทยมีค่าเฉลี่ยความเข้มรังสีของแสงอาทิตย์สูงเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับสภาพอากาศในปัจจุบันที่แปรปรวนและร้อนอบอ้าว ส่งผลให้ไทยมีความพร้อมทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทานที่จะช่วยดันให้ตลาดติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เติบโตได้ดีในระยะต่อไป
“โอกาสและศักยภาพของเทคโนโลยีเคลือบนาโนที่ทีมวิจัยนาโนเทคเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามองเป็นช่องว่างทางธุรกิจที่จะนำนวัตกรรมที่เรามีความเชี่ยวชาญไปต่อยอด จึงสปินออฟสู่การเป็นดีพเทคสตาร์ทอัพภายใต้ บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด ที่นำร่องด้วยนวัตกรรมน้ำยาเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ พร้อมให้บริการด้านการเคลือบนาโนอีกด้วย” ดร.ธันยกรกล่าวในฐานะ Managing Director ของ นาโน โค๊ตติ้ง เทค
บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด เริ่มดำเนินการในช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ดร.ธันยกรเผยว่า การตอบรับดีมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้โซลาร์เซลล์เพื่อการผลิตไฟฟ้าในระดับโรงงานอุตสาหกรรม, โซลาร์ฟาร์ม รวมถึงผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เท็กซ์พลอร์ จำกัด ที่ให้ความสนใจเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ โดยเท็กซ์พลอร์ ที่มีความเชี่ยวชาญ และฐานลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว จะทำหน้าที่เป็นดิสทริบิวเตอร์ นำนวัตกรรมสารเคลือบนาโนนี้ ไปหาลูกค้ากลุ่มที่มีความต้องการใช้งานอีกด้วย
ปัจจุบัน กำลังการผลิตสารเคลือบพื้นผิวโซลาร์เซลล์ของนาโน โค๊ตติ้ง เทค อยู่ที่ 20,000 ลิตรต่อเดือน ซึ่งจะสร้างรายได้ราว 20 ล้านบาทต่อเดือน ด้วยเป้าหมายที่วางไว้ว่า ภายใน 5 ปี นาโน โค๊ตติ้ง เทคจะเป็นเบอร์ 1 ทางด้านสารเคลือบในแถบอาเซียน
นอกจากนี้ ยังวางแผนขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีเคลือบนาโนออกไปสู่ผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบนาโนสำหรับใช้ปกป้องพื้นผิววัสดุสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำยาเคลือบพื้นผิววัสดุสิ่งก่อสร้าง สำหรับคอนกรีต ไม้ และกระจก เพื่อลดการเกิดคราบน้ำ ตะไคร่ และการเกาะตัวของฝุ่น ซึ่งจะช่วยลดความถี่ในการทำความสะอาด และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้งาน โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงมีบริการด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบพื้นผิววัสดุตามโจทย์ที่ลูกค้าต้องการด้วย