ชวนจับตา “ดวงจันทร์บังดาวศุกร์” หัวค่ำ 24 มีนาคมนี้
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผย 24 มีนาคม 2566 “ดวงจันทร์บังดาวศุกร์” ช่วงเวลาประมาณ 18:37 – 19:45 น. (ตามเวลากรุงเทพมหานคร) หากมองจากโลก บนท้องฟ้าทางทิศตะวันตก ในเวลาประมาณ 18:37 น. ดวงจันทร์จะค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปบังดาวศุกร์ และจะเคลื่อนที่ออกจากดาวศุกร์เวลาประมาณ 19:45 น. โดยประมาณ นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในไทย เตรียมตั้งกล้องชวนส่องปรากฏการณ์ ณ 4 จุดสังเกตการณ์หลักเชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 18:00 เป็นต้นไป
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ช่วงหัวค่ำวันที่ 24 มีนาคม 2566 จะเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ เริ่มสังเกตการณ์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก วัตถุทั้งสองอยู่เคียงกันสูงจากขอบฟ้าประมาณ 32 องศา ในช่วงเวลาประมาณ 18:37 น. ดวงจันทร์จะค่อย ๆ เคลื่อนที่ไปบังดาวศุกร์ และจะเคลื่อนที่ออกจากดาวศุกร์ ในเวลาประมาณ 19:45 น. โดยขณะนั้น ดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกประมาณ 16 องศา (ข้อมูลดังกล่าวคำนวณจากพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสังเกตการณ์ในพื้นที่อื่น ช่วงเวลาของการบังอาจจะเริ่มและสิ้นสุดไม่พร้อมกัน)
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การบังกันของวัตถุท้องฟ้า (Occultations) เป็นปรากฏการณ์ที่วัตถุท้องฟ้าหนึ่งเคลื่อนที่ผ่านหน้ามาบังอีกวัตถุหนึ่งเมื่อสังเกตจากแนวสายตา เช่น ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์บังกันเอง ฯลฯ สามารถใช้ปรากฏการณ์ดังกล่าวคำนวณหาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของวัตถุ คำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ตรวจหาและศึกษาโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ รวมถึงการใช้ตรวจหาวงแหวนของดาวเคราะห์ชั้นนอกได้อีกด้วย เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อวงการวิจัยดาราศาสตร์ ทั้งยังเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่หาชมยาก เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะในประเทศไทย จึงขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมชมความสวยงามด้วยตาเปล่า หากชมผ่านกล้องโทรทรรศน์จะสังเกตเห็นดาวศุกร์ค่อย ๆ ลับหายไปหลังดวงจันทร์ และโผล่พ้นออกมาทั้งดวงได้อย่างชัดเจน
สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดวงจันทร์บังดาวศุกร์” เวลา 18:00 – 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ชมแบบเต็มตาผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขณะเกิดปรากฏการณ์ในช่วงหัวค่ำ (เวลาประมาณ 18:37 – 19:45 น.) รวมเวลากว่า 1 ชั่วโมง 8 นาที หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลา 18:00 เป็นต้นไป