สกสว.จับมือหน่วยงานวิจัยด้านสาธารณสุข ร่วมกำหนดทิศทางขับเคลื่อนระบบวิจัยโควิด-19 และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ “เร่งงานวิจัยใช้ทันวิกฤต”

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมสถานะงานวิจัยและแนวทางการขับเคลื่อนระบบวิจัยโควิด-19 และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (EID) ในระยะ 3 ปี โดยร่วมกับผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมประชุมหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยโควิด-19 รวมถึงการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า จากการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ทำให้ปัจจุบันเกิดการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของภาคนโยบายและภาคปฏิบัติ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนประกอบด้วย 1) กำหนดทิศทาง 2) พลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า 3) การทำงานร่วมกันของระบบ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 กสว.ทำหน้าที่มอบนโยบายในการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ทำให้เกิดการจัดสรรงบประมาณในรูปแบบใหม่ซึ่งมีความรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ ทำให้หน่วยรับงบประมาณสามารถสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองกับสถานการณ์เร่งด่วนท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการทำงานร่วมกันกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนในลักษณะของกลไกร่วมกัน โดยมีสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) 

ขณะที่ รศ.ดร.ปัทมาวดี  โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ท้าทายกลไกการทำงานของระบบ ววน. ที่จะมีส่วนร่วมในการหาทางออกให้กับประเทศในปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าในอีก 3 ปี แม้กองทุน ววน.จะสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยและพยายามทำให้ระบบมีความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัติพบว่ายังมีช่องว่างในการให้ทุน การตอบโจทย์ไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องสานพลังเพื่อการพัฒนา การประชุมครั้งนี้จะช่วยคลี่ภาพและแลกเปลี่ยน แนวนโยบายการขับเคลื่อนการทำวิจัย รวมถึงหารือร่วมกันว่าควรมีกลไกอย่างไรเพื่อให้ระบบวิจัยของประเทศตอบสนองความต้องการ ทั้งการตั้งโจทย์ การทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญ และจะเชื่อมโยงกับภาคเอกชนอย่างไร การจัดสรรงบที่รวดเร็ว และการสื่อสารกับประชาชน เพื่อให้ สกสว. เครือข่ายวิจัย และหน่วยรับงบประมาณ ปรับปรุงการดำเนินงานให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์วิกฤตได้ทันท่วงที

 ขณะที่ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ศบค. กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง “ประเด็นวิจัยเร่งด่วนและการบูรณาการกลไกด้านการวิจัยให้ทันความต้องการของประเทศ” ว่าจากสภาพปัญหาโควิด-19 กับการวิจัย มีช่องทางที่จะทำเพิ่มเติมมากมาย เพราะเป็นปัญหาใหม่ที่วิกฤตร้ายแรง ต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่รวมกับความรู้จากภายนอกที่ต้องปรับเปลี่ยนบ่อยมาก ภายใต้สภาพเฉพาะของไทยทั้งด้านกายภาพ พันธุกรรม เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ การตัดสินใจทางนโยบายและระดับปฏิบัติการทั้งการควบคุม เยียวยา และฟื้นฟู จึงต้องมีทางเลือกและสมดุล สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ ต้องมีหลักฐานที่เชื่อถือได้ ผลที่ออกมาต้องทันการณ์และใช้การในความเป็นจริงได้ วิธีการวิจัยต้องถูกปรับให้ไวและนำไปใช้ประโยชน์

“การจัดการกับงานวิจัย สกสว.ต้องมีระบบข่าวกรองที่ดี นำข้อมูลต่าง ๆ มาเข้าร่วมในกระบวนการตัดสินใจตั้งเป็นคำถามวิจัย มีมาตรการการบริหารจัดการที่ทันเวลา นักวิจัยคนไหนทำงานได้ ถ้าเลือกคนผิดงานก็ไม่ออก นอกจากนี้ยังต้องมีความร่วมมือ และสื่อสารผลงานวิจัยสู่ผู้ตัดสินใจ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติ และประชาชน ทั้งนี้ระบบการบริหารจัดการต้องทำวิจัยร่วมกันเพราะเป็นปัญหาระดับโลก ทั้งการเฝ้าระวัง การรักษา  วัคซีน เชื่อมกับระบบเศรษฐกิจ แรงงาน พฤติกรรมทางสังคม สุขภาพจิต และการศึกษา” 

ส่วน ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุข ศบค. ระบุว่าปัจจัยของความสำเร็จในการขับเคลื่อนงานวิจัยต้องประกอบด้วย ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ภาครัฐ และหน่วยงานที่ดูแลกฎระเบียบ เช่น อย. เมื่อวิจัยแล้วต้องออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้ ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่รวมถึงในภูมิภาคด้วย เราต้องดูตั้งแต่ต้นจนจบให้ครบ มีคนร่วมผลิต ศูนย์หรือสถาบันต่าง ๆ การถ่ายทอดเทคโนโลยี โรงงานต้นแบบ จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ขึ้นหิ้ง และยังสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง ยาและวัคซีน อย่างไรก็ตามยังคงมีช่องว่างในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับยาฟ้าทะลายโจรและกระชายขาว จะเป็นโอกาสสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งวิจัยและขยายผลให้ทันท่วงที

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เสนอให้ทำวิจัยแบบแซนด์บ๊อกซ์ในอนาคต ซึ่งจะต้องมีรูปแบบที่หลุดกรอบทั่วไปที่มีอยู่ให้สามารถระดมทีมจากหลายสถาบันเพื่อตอบโจทย์เดียวกัน โดยงานวิจัยชุดแรกที่ควรดำเนินการคือ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เพื่อพิสูจน์การทำงานที่แข่งกันเวลา และมีกฎระเบียบหลายอย่างที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้งานวิจัยสามารถใช้ประโยชน์มากกว่าการตีพิมพ์

Leave a Reply

Your email address will not be published.