สอวช. ลงนามความร่วมมือ วช. – มจธ. หลักสูตรพัฒนานโยบาย ววน. สร้างบุคลากรพัฒนานโยบายรุ่นใหม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการจัด “หลักสูตรการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (SRIP) สำหรับบุคลากรของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. และ ผศ.ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ STIPI ร่วมลงนาม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ กล่าวว่า ความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการจัด “หลักสูตรการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมครั้งนี้ ถือเป็นงานที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ซึ่งระบบและนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศของเรา โดยเป็นรากฐานที่สำคัญ 6 เรื่อง คือ 1) การพัฒนา ซึ่ง ววน. มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศไทยเรามีระดับเศรษฐกิจอยู่ในระดับกลาง เมื่อเทียบเคียงกับต่างประเทศ แต่เราอยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียน ถ้าหากสร้างความเข้มแข็งให้กับ ววน. ได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจก้าวล้ำมากขึ้นจนสามารถเทียบเคียงกับประเทศที่มีความก้าวหน้าสูงได้ ในเรื่องเศรษฐกิจ ววน. จะมีความสำคัญมากในเรื่องของการพัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรบ้านเราที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรรายย่อย ววน. ต้องเข้าไปสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรรายย่อย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นเกษตรที่ก้าวล้ำ เกษตรแม่นยำ เกษตรอัจฉริยะ หาก ววน. ไม่เข้มแข็ง เราก็จะไม่สามารถส่งเสริมให้ภาคการเกษตรยืนอยู่ได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่สูงขึ้น 2) ภาคอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสมัยก่อนเราเน้นการใช้แรงงานเข้มข้น ปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีเข้มข้น คือซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศเข้ามาผลิตบวกกับแรงงานที่เรามี ถ้าเราไม่สามารถนำ ววน. ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมได้ เราก็จะแข่งขันไม่ได้ และรายได้ต่อหัวประชากรก็จะไม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้เราติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางเช่นเดิม 3) ภาคบริการ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ใช้ความรู้เข้มข้น เช่น เรื่องการเงิน การวิจัย การให้คำปรึกษา รวมถึงบริการด้านการศึกษา เป็นบริการที่อาศัยความรู้สูง มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง การสนับสนุนด้านวิจัยและนวัตกรรมจึงมีความสำคัญมาก 4) เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งประเทศไทยเราต้องมีการพัฒนาเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง 5) สังคม เรื่องระบบสุขภาพของประเทศต้องได้รับการสนับสนุนด้วยองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม ดังเช่นวิกฤตโควิด-19 ที่เราประสบทุกวันนี้ หากไม่มีงานวิจัย องค์ความรู้มาสนับสนุน เราก็จะย่ำแย่ไปกว่าเป็นอยู่ในปัจจุบัน 6) ด้านมนุษยศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเหล่านี้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และอีกเรื่องหนึ่งที่ ววน. จะเป็นฐานที่สำคัญ คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หากขาดความรู้ที่มาสนับสนุน ในอนาคตเราจะไม่สามารถรับมือได้ และภัยพิบัติจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ
“ความร่วมมือในวันนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ ววน. ของเรามีความเข้มแข็ง ซึ่งตัวชี้วัดว่าระบบ ววน. เรามีความเข้มแข็งอย่างเป็นรูปธรรม คือ ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง แข่งขันได้และมีความสามารถในการทำนวัตกรรม SME มีความเข้มแข็ง วิสาหกิจชุมชนทำงานได้มาตรฐานและขายได้ เกษตรกรมีผลผลิตที่มีคุณภาพสูง สตาร์ทอัพเติบโตและมีจำนวนมากขึ้น จากงานฐานนวัตกรรม และที่สำคัญภาคสังคมมีความมั่นคง ผลลัพธ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ย่อมมาจากระบบ ววน. ที่ส่งมอบได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน ประชาคม ววน. จะต้องมีความเข้มแข็งมากขึ้นด้วย ตั้งแต่หน่วยงานวิจัย สถาบันการอุดมศึกษา รวมไปถึงหน่วยบริหารและจัดการทุน อย่าง วช. เอง สุดท้ายคือการจัดการระบบ ววน. ในเชิงระบบที่ทำอย่างไรให้เกิดความร่วมมือ ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ววน. ต้องเป็นมากกว่าการวิจัย ทำเรื่องการพัฒนาที่ใช้ ววน. ขับเคลื่อน ซึ่งหลักสูตรการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (SRIP) สำหรับบุคลากรของ วช. ภายใต้ความร่วมมือนี้ ก็เป็นหนึ่งในเรื่อง Development Study เราต้องมองถึงเรื่องการพัฒนาที่มีฐานความรู้ทั้งจากการวิจัยและจากนวัตกรรม และเราจะต้องบริหารจัดการ ววน. อย่างไร ให้ความรู้และนวัตกรรมเหล่านั้นส่งมอบไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรม” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึง การเชื่อมโยงบทบาทของ วช. กับนโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุนว่า สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือกรอบงานแผนการบ่มเพาะบุคลากรในแวดวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ตามที่ มจธ. ได้ออกแบบหลักสูตร และได้เดินหน้าร่วมกับ สอวช. ในการนำหลักสูตรนี้เข้ามาใช้ในลักษณะเป็นหลักสูตร in-house สำหรับบุคลากร วช. เพื่อให้สามารถเข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับภารกิจในบทบาทของหน่วยงานบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม ในเรื่องของการพัฒนานโยบาย ววน. ให้มีความเข้มแข็ง สามารถออกแบบ ทำความเข้าใจกับระบบใหม่ๆ ที่เป็นกลไกที่เกิดขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ บทบาทของ วช. ไม่เพียงแต่ทำงานตามภารกิจเท่านั้น ยังต้องทำงานในลักษณะทำความเข้าใจ และเชื่อมโยงเครือข่าย อีกทั้งในเรื่องแนวทางการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในกรอบงานที่เกี่ยวกับเรื่องทุน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่า 50% ในภารกิจที่ วช. ดูแลอยู่ ให้สามารถเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ภายใต้การสนับสนุนของเครือข่าย ทั้งหน่วยงานระดับนโยบายอย่าง สอวช. การทำงานร่วมกับหน่วยงานที่ทำเรื่อง Policy Deployment อย่าง สกสว. เครือข่ายหน่วยวิจัยที่มีความเข้มแข็ง เช่น ทาง มจธ. เอง และหน่วยงานอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน
รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. เปิดเผยว่า การลงนามภายใต้ความร่วมมือนี้เป็นหลักสูตรที่ออกแบบร่วมกันระหว่างการเรียนในชั้นเรียนและการนำประสบการณ์ที่มีอยู่มาใช้ในการตอบโจทย์หรือออกแบบระบบวิจัยภายในองค์กร ซึ่งการพัฒนาบุคลากรในทิศทางนี้จะทำให้บุคลากรสามารถนำเอาโจทย์หน้างานของแต่ละคนเข้ามาร่วมในโครงการ เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม และนำไปใช้ได้จริง หลักสูตรเหล่านี้ต้องเน้นการลงมือปฏิบัติ มีการทำงานกลุ่ม นอกเหนือจากการสร้างความเข้าใจทางทฤษฎีแล้ว ต้องมีเป้าหมายในการฝึกเรื่อง Soft Skills อาทิเช่น การทำงานอย่างเป็นระบบ การทำงานเป็นทีม ในหลักสูตรนี้ยังมีความพิเศษ คือมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารระดับสูงหลายท่าน มาให้ความรู้ ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ การพัฒนาของประเทศต่างๆ เป็นมุมมองความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ร่วมโครงการได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีการปรับรูปแบบการเรียนเป็น Hybrid Learning มีการเรียนการสอนมีทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์ผสมผสานกัน และหากโครงการนี้ทำได้ดีก็สามารถนำไปเป็นแนวทางพัฒนาบุคลกรขององค์อื่นๆ ได้ต่อไป
นอกจากนี้ ผศ. ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ STIPI ยังได้กล่าวถึง เป้าหมายของ “หลักสูตรการพัฒนานโยบายวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (SRIP) สำหรับบุคลากรของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)” ที่ต้องการให้บุคลากรนำความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในการปฏิบัติงานและพัฒนางาน รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและโจทย์ใหม่ๆ จากเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเพื่อร่วมออกแบบระบบการดำเนินงานภายใต้บริบทและสภาวการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยโครงสร้างหลักสูตรมีระยะเวลารวม 45 ชั่วโมง ครอบคลุมตั้งแต่การให้ความรู้ด้าน ววน. ทางทฤษฎี ตัวอย่างการดำเนินงานพัฒนา ววน. ของประเทศ บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศ การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนองค์กร ไปจนถึงกระบวนการออกแบบ บทบาทของ วช. ในระบบใหม่ ด้าน ววน. ของประเทศด้วย