สทน. ลงนามความร่วมมือ กับ สถาบันพลังงานฟิวชัน เกาหลีใต้ และเป็นเจ้าภาพจัดการอบรมด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันระดับอาเซียนครั้งที่ 9
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ลงนามความร่วมมือในด้านการพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีฟิวชันและพลาสมาของไทย ระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. โดย รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน. และ Korea Institute of Fusion Energy หรือ KFE สาธารณรัฐเกาหลี โดย Dr.Suk Jae YOO ผู้อำนวยการ KFE มีคณะผู้บริหารจากทั้ง 2 หน่วยงาน พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม หรือ บพค. ภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน การลงนามดังกล่าวจัดขึ้นที่ อาคารปฏิบัติการเครื่องโทคาแมค สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานใหญ่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สทน.เปิดเผยถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า การลงนามความมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนและยกระดับศักยภาพให้แก่เหล่าบรรดานักวิจัยและวิศวกรชาวไทยในด้านของการศึกษา วิจัย และการฝึกอบรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับด้านฟิวชันและพลาสมา ความร่วมมือระหว่าง สทน.และ KFE ครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ บพค. ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับ University of Science & Technology หรือ UST สาธารณรัฐเกาหลี ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งความร่วมมือระหว่าง บพค.และ UST จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านฟิวชันและพลาสมาของไทย โดยไทยสามารถส่งบุคลากรไปศึกษาในระดับปริญญาเอก หรือ นักวิจัยหลังปริญญาเอก หรือ โพสต์-ด็อก ด้านฟิวชันพลาสมาที่ KFE ซึ่งจะเป็นการยกระดับการพัฒนาด้านฟิวชันและพลาสมาของไทยในอนาคต
สำหรับความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ สทน.ได้เสนอให้ทาง KFE จัดการฝึกอบรมระยะสั้นสำหรับนักวิจัยของไทยเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการเดินเครื่อง Thailand Tokamak-1 ใน 2 หัวข้อได้แก่ การเตรียมความพร้อมในการออกแบบระบบการจ่ายไฟสำหรับการให้ความร้อนของพลาสมา (Management of Power Supply for Plasma Heating) การออกแบบและพัฒนาระบบ Thomson scattering และระบบ interferometer แบบเปลี่ยนความถี่ รวมไปถึงการส่งนักวิจัยของไทยไปทำการทดลองด้านพลาสมาและฟิวชันร่วมกับ KFE ที่สาธารณรัฐเกาหลีด้วย
โดยในระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 สทน.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมฝึกอบรมด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันระดับอาเซียนครั้งที่ 9 หรือ 9th ASEAN School on Plasma and Nuclear Fusion (ASPNF2022024) โดยจัดขึ้นที่ ศูนย์ฝึกอบรมบางปะกง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โครงการการอบรมทางด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันแห่งอาเซียน สทน. ได้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ อาทิเช่น สถาบันวิจัยฟิวชันในสนามแม่เหล็ก ( Research Institute on Magnetic Fusion หรือ IRFM) ภายใต้ The French Alternative Energies and Atomic Energy Commission (CEA), International Thermonuclear Experimental Reactor (ITER) ประเทศฝรั่งเศส , ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ( International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ประเทศออสเตรีย , Japan Graduate University for Advanced Studies (SOKENDAI), National Institute for Fusion Science (NIFS) ประเทศญี่ปุ่น, สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ขั้นสูง ASIPP สาธารณรัฐประชาชนจีน และหน่วยงานเครือข่ายวิจัยภายในประเทศของ สทน. ภายใต้ความร่วมมือ Center for Plasma and Nuclear Fusion Technology (CPaF) มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 9 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและความตระหนักในด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชันให้นักศึกษาและนักวิจัย เป็นการกระตุ้นและยกระดับความสนใจในด้านการวิจัยเกี่ยวกับพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชันในกลุ่มประเทศอาเซียน อีกทั้งสร้างเครือข่ายกลุ่มวิจัยที่เข้มแข็งในด้านพลาสมาและนิวเคลียร์ฟิวชัน ซึ่งปีนี้มีนักวิจัย นิสิต นักศึกษาจากอินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ปากีสถาน และญี่ปุ่น จำนวนทั้งสิ้น 60 คน เข้าร่วมการอบรม