สวทช. จัดสัมมนาด้านชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช เชื่อมนักวิจัยไบโอเทคพบปะเกษตรกร มุ่งสู่การผลิตพืชแบบเกษตรปลอดภัย
(9 ก.ค. 67) ณ อาคารสราญวิทย์ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี – สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) จัดสัมมนาเรื่อง “นวัตกรรมและเทคโนโลยีชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช เพื่อธุรกิจเกษตรปลอดภัย” มุ่งให้ข้อมูลเรื่องการใช้ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช การใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ที่เหมาะสมกับสมาชิกเกษตรกรในชุมชน การควบคุมแมลงศัตรูพืชดื้อยา รวมถึงการผลิตและใช้ชีวภัณฑ์อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรับฟังมุมมองของผู้ผลิตโดยผู้แทนภาคเอกชนในเรื่องชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช แก่ผู้ประกอบการด้านเกษตรปลอดภัย บริษัทห้างร้าน สหกรณ์การเกษตร กลุ่มผู้ผลิตชีวภัณฑ์ และที่เกี่ยวข้องมากกว่า 300 คน ในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ โดยมีผู้อำนวยการโปรแกรม ITAP และนักวิจัยไบโอเทค ประกอบด้วย ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ และคุณสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ โรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช พร้อมด้วยผู้ประกอบการที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชของไบโอเทค จากบริษัท บีไบโอ จำกัด บริษัท ทีเอบี อินโนเวชั่น จำกัด และบริษัท แอพพลายเค็ม (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมในงาน
ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า “ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช” นับเป็นปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อระบบการผลิตพืชแบบเกษตรปลอดภัยแต่ยังใช้ในวงจำกัด อย่างไรก็ดี ไบโอเทคได้มีการวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี เพื่อมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่สามารถควบคุมการระบาดของแมลงศัตรูพืชหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค เช่น ราแมลงต่าง ๆ แบคทีเรีย และไวรัส เอ็น พี วี (NPV) เป็นต้น ดังนั้น การเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี (Biocontrol) จึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกษตรกรไทยสามารถทำการเกษตรอินทรีย์ได้อย่างยั่งยืน มีปัจจัยการผลิตที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพและปลอดภัย เป็นไปตามความต้องการของตลาด และสอดคล้องกับนโยบายขับเคลื่อนด้าน BCG ของประเทศ
“โปรแกรม ITAP สวทช. ดำเนินงานด้านสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศไทยต่อไป โดย ITAP เห็นความสำคัญของการขยายผลการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช ที่เป็นผลงานของ สวทช. สู่ผู้ใช้และผู้ผลิตชีวภัณฑ์ อย่างถูกวิธีและเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของธุรกิจเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย มีความเข้มแข็ง และพัฒนาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำของภูมิภาคอาเซียนในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในอนาคต จึงร่วมมือกับทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค และ สท. จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น”
กิจกรรมภายใต้งานสัมมนา มีการแนะนำโครงการให้คำปรึกษา “การใช้นวัตกรรมชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช เพื่อธุรกิจเกษตรปลอดภัย” โดยคุณเสาวภา ยุววุฑโฒ โปรแกรม ITAP สวทช. และการให้ความรู้ในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้าน Biocontrol โดยนักวิจัยไบโอเทค 3 ท่าน เรื่องแรก “นวัตกรรมชีวภัณฑ์จัดการศัตรูพืช เพื่อธุรกิจเกษตรปลอดภัย” โดย ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ เรื่องถัดไปเป็น “สปอด-อี โฟกัส ผลิตภัณฑ์เอ็นพีวี ควบคุมแมลงศัตรูพืชดื้อยา” โดยคุณสัมฤทธิ์ เกียววงษ์ โรงงานต้นแบบผลิตไวรัสเอ็นพีวีเพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืช และเรื่องที่สาม “ปัจจัยสำคัญสำหรับการผลิตและการใช้ชีวภัณฑ์ควบคุมศัตรูพืชอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ” โดย ดร.บุญเฮียง พรมดอนกอย ทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ
พร้อมด้วยการสะท้อนมุมมองของผู้ผลิตโดยผู้แทนภาคเอกชนจาก 3 บริษัท ในเรื่องชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช ประกอบด้วย คุณสกล เหนียนเฉลย กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีไบโอ จำกัด คุณปรภาว์ นิตย์โฆษกุล ผู้จัดการ บริษัท แอพพลายเค็ม (ประเทศไทย) จำกัด และคุณวัธนพล เจียรวุฑฒิ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท ทีเอบี อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมด้วยคุณสิริญาดา ธนังสวัสดิ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ บริษัท ทีเอบี อินโนเวชั่น จำกัด ก่อนจะปิดท้ายงานสัมมนาด้วยการเปิดเวทีให้เกษตรกรและผู้ร่วมงานได้พบปะนักวิจัย ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ และที่ปรึกษาโครงการจาก ITAP เพื่อประโยชน์ในการร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและความต้องการสำหรับธุรกิจเกษตรปลอดภัยได้อย่างสูงสุด