สอวช. ชี้ความสำคัญของการทูตวิทยาศาสตร์ต่อการขับเคลื่อนด้านนโยบายของไทย พร้อมเผยแนวทางสนับสนุนทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ และการให้ทุนวานนี้
(21 สิงหาคม 2567) : ดร.สิริพร พิทยโสภณ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “Science in Diplomacy: The Role of Scientists Towards Achieving the 2030 SDGs” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “The Pilot Science Diplomacy Workshop for Early-to-Mid Career Researchers in ASEAN Plus Three” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ The World Academy of Sciences (TWAS) และ The American Association for the Advancement of Science (AAAS)
โดยโครงการนี้ริเริ่มขึ้นเพื่อให้นักวิจัยรุ่นใหม่ และนักนโยบายในอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ มีความเข้าใจในการทูตวิทยาศาสตร์ สามารถนำผลการวิจัยมาใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และใช้วิทยาศาสตร์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักนโยบายตระหนักถึงความจำเป็นในการปลดล็อกข้อจำกัดในมิติต่าง ๆ ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การออกนโยบายที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เชิงประจักษ์ดร.สิริพร ได้กล่าวถึงบทบาทของนักวิทยาศาสตร์ในกระบวนการทำนโยบาย โดยได้ยกตัวอย่าง แผนที่นำทางด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research Roadmap) ที่ในปี พ.ศ. 2561 สอวช. ได้นำนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 500 คน เข้าพบนายกรัฐมนตรี โดยนักวิทย์รุ่นใหม่ร่วมกันเสนอโจทย์วิจัยขั้นแนวหน้าที่จำเป็นและสำคัญต่อประเทศ 4 ด้าน ได้แก่ 1. อาหารแห่งอนาคต (Food for the Future) 2. การแพทย์และสาธารณสุขขั้นแนวหน้า (Health Frontier) 3. พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) และ 4. การป้องกันภัยคุกคาม/รับมือความเสี่ยงและสร้างโอกาสในอนาคต (Future Threats and Opportunities) และในด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศชีววิทยาสังเคราะห์ของไทย (Synthetic Biology) ได้มีการรวมตัวหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 22 หน่วยงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน จัดตั้งขึ้นเป็น Thai SynBio Consortium ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยได้วางวิสัยทัศน์ให้ SynBio เข้ามาช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้
ดร.สิริพร ยังได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญที่เข้าไปสนับสนุนบทบาทของนักวิทยาศาสตร์ในการทูตทางวิทยาศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2.ด้านทรัพยากรมนุษย์ และ 3.ด้านการให้ทุน โดยมีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค (Regional Science Park) ที่จะช่วยสนับสนุนการทำวิจัยและทำนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ดำเนินการผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่กระจายอยู่ในแต่ละภูมิภาคของประเทศ รวมกว่า 44 แห่ง โดยในแต่ละแห่งจะมีสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs สตาร์ทอัพ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ผ่านการดึงดูดการลงทุนทั้งในพื้นที่และจากต่างประเทศ ช่วยสร้างอาชีพ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อีกประเด็นที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญคือเรื่องของอาหาร ในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการตั้ง Food Innopolis ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารระดับโลก มีการดำเนินงานให้บริการด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม แบบครบวงจรของ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของมหาวิทยาลัยและอุทยานวิทยาศาสตร์ระดับภูมิภาค ในส่วนของ EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง มีการดำเนินการในรูปแบบแซนด์บ็อกซ์ ในการปรับเปลี่ยนด้านกฎระเบียบ ช่วยให้สามารถทดสอบและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นได้ภายใต้กรอบการทำงานที่ยืดหยุ่น ช่วยดึงดูดบริษัทและสถาบันวิจัยระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาค ช่วยสร้างจุดยืนของประเทศไทยในแวดวงนวัตกรรมระดับนานาชาติ มีโครงการความร่วมมือไทย – เซิร์น (European Council for Nuclear Research: CERN) ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้ทรงเล็งเห็นโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ร่วมโครงการวิจัยกับนักวิจัยของ CERN โดยสถาบันวิจัยของไทยได้มีความร่วมมือกับ CERN อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ได้แก่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โครงการ Franco-Thai Young Talent Research Fellowship เป็นทุนวิจัยหลังปริญญาเอกภายใต้การสนับสนุนร่วมกันของกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ของกระทรวง อว. โครงการ ASEAN Talent Mobility เป็นนโยบายในการระดมคนเก่งระดับอาเซียน จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย เพื่อช่วยเหลือภาคเอกชนในการยกระดับเทคโนโลยีเพื่อความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ ในเรื่องการให้ทุน ยังมีหลายโครงการที่หน่วยงานให้ทุน ภายใต้กระทรวง อว. ได้สร้างความร่วมมือในการให้ทุนร่วมกับต่างประเทศด้วยในเรื่องความสำคัญของการทูตวิทยาศาสตร์
ดร.สิริพร กล่าวว่า ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 1.นโยบายที่ชาญฉลาด (Smart Policies) นักวิทยาศาสตร์จะมีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ช่วยเป็นข้อมูลสนับสนุนให้รัฐบาลมีการตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น เกิดเป็นนโยบายที่แตกต่างและชาญฉลาด 2.การทำงานเป็นทีมในระดับโลก (Global Teamwork) นักวิทยาศาสตร์ในแต่ละประเทศสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อแบ่งปันความรู้ และนำไปสู่การหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 3. การสร้างความเชื่อมั่น (Building Trust) วิทยาศาสตร์สามารถนำพาให้คนมาทำงานร่วมกันได้ เมื่อมีโครงการด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่น และความเข้าใจร่วมกัน โดยเฉพาะช่วงที่มีความตึงเครียดทางการเมืองสูง วิทยาศาสตร์จะช่วยเชื่อมโยงคนเข้ามาหากันได้ และ 4.การสร้างพลังให้กับทุกคน (Empowering Everyone) ในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จะต้องนำเอาความรู้ ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ให้ไปถึงทุกคนด้วยดร.สิริพร ยังได้กล่าวถึงกลยุทธ์ที่จะทำให้การทูตวิทยาศาสตร์เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ 1.การสร้างเครือข่ายและความร่วมมือ (Building Networks and Partnerships) 2.การมีส่วนร่วมของผู้กำหนดนโยบายและสาธารณะ (Engaging Policymakers and Public) 3.การเสริมสร้างขีดความสามารถ (Capacity Building) และ 4.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์แบบเปิด (Promoting Open Science) ที่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการเผยแพร่สามารถเข้าถึงทุกระดับของสังคมได้