ที่ประชุมสภานโยบายฯ เห็นชอบข้อเสนอ spin-off หน่วยบริหารและจัดการทุน บพข.-บพท.-บพค. ออกจาก สอวช. เน้นบทบาทเป็นคานงัดสำคัญส่งเสริมการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมภาคเอกชน
สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จัดการประชุม ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.วิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เป็นรองประธาน พร้อมด้วยรัฐมนตรี ผู้บริหารจากกระทรวงฯ หน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม
ระเบียบวาระที่สำคัญในการประชุมครั้งนี้ คือการพิจารณาข้อเสนอการจัดระบบการบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และ (ร่าง) ข้อเสนอรูปแบบการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้านออกจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการสภานโยบายฯ เปิดเผยว่า การจัดตั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนเฉพาะด้าน ภายใต้ร่มนิติบุคคลของ สอวช. เกิดขึ้นจากการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ สภานโยบายฯ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานให้ทุนขึ้น 3 หน่วย ประกอบด้วย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.), หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ซึ่งตามข้อบังคับคณะกรรมการอำนวยการ สอวช. มีการกำหนดให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปฯ จัดทำกรอบการประเมินและการแยกหน่วยบริหารและจัดการทุนออกจาก สอวช. ไปเป็นหน่วยงานที่เหมาะสมภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินงานมาครบ 2 ปีแล้ว จึงต้องเตรียมการที่จะแยกตัวออกไปและเตรียมความพร้อม ภายในระยะเวลา 3 ปีตามที่กำหนดไว้
ในการแยกทั้ง 3 หน่วยงานออกมา ได้มีการศึกษาวิเคราะห์และหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ข้อสรุปออกมาเป็นหลักการชี้นำ (Guiding Principle) ในการออกแบบระบบการบริหารและจัดการทุนของประเทศ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ให้เกิดประโยชน์และเห็นเป็นที่ประจักษ์ เกิดผลสัมฤทธิ์ตามกรอบนโยบายยุทธศาสตร์ อววน. ที่สภานโยบายฯ ได้กำหนดไว้ เน้นการส่งมอบผลลัพธ์ตามโจทย์ที่ประเทศต้องการ รวมถึงการเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ผู้ใช้ประโยชน์ และบุคลากรรุ่นใหม่ๆ เข้ามามีส่วนในการบริหารจัดการหรือดำเนินการ และให้มีปฏิสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย ภาคนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดผล ที่สำคัญจะช่วยปิดช่องว่างของระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศในขณะนี้ได้ ด้วยการเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรม การส่งเสริมภาคเอกชนให้ลงทุน โดยใช้งบประมาณของรัฐเข้าไปเป็นคานงัดกับงบวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชน
การจัดตั้งหน่วยงานใหม่นี้จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยจะเป็นหน่วยงานให้ทุนที่จะจัดให้มีขอบเขตความรับผิดชอบของหน่วยงานชัดเจนขึ้น โดยเสนอให้รวมทั้ง 3 หน่วยบริหารจัดการทุนเฉพาะด้านข้างต้น เป็นองค์การมหาชน ซึ่งขอบเขตงานจะเข้ามาเติมเต็มในส่วนการทำ Translational Research ทำให้ความรู้หรืองานวิจัยสามารถออกไปสู่เชิงพาณิชย์และสร้างให้เกิดผู้ประกอบการได้ โดยหน่วยงานนี้จะรับผิดชอบการวิจัยและนวัตกรรม ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต และการพัฒนาเชิงพื้นที่ ในด้านความสำคัญ คือเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการขับเคลื่อนให้บรรลุผลตามเป้าหมายยุทธศาสตร์และแผน อววน. ของประเทศ ช่วยเติมเต็มเรื่องการให้ทุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เน้นเรื่องความสามารถในการแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมที่รับผิดชอบ รวมถึงการจะช่วยเป็นคานงัดงบวิจัยของรัฐให้เกิดการเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชน
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ คือการเพิ่มการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมจากภาคเอกชน รวมถึงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนวิจัยและนวัตกรรมให้สูงขึ้น ตามเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ จีดีพี ให้ได้ 2% ในปี 2570 อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย พัฒนาให้เกิดผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูง ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มศักยภาพของมหาวิทยาลัยในการใช้กระบวนการการวิจัยและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ และสร้างขีดความสามารถการบริหารจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าให้กับประเทศ รองรับอุตสาหกรรมอนาคต เพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อน รองรับการเติบโตของประเทศในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาข้อเสนอฯ ดังกล่าว ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการข้อเสนอการแยกหน่วยบริหารจัดการทุนเฉพาะด้านออกจาก สอวช. พร้อมได้มอบหมายให้ สอวช. จัดทำพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้น และจัดทำข้อเสนอตามแบบการขอจัดตั้งองค์การมหาชน เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยให้ สอวช. ดำเนินงานควบคู่ไปกับการรายงานผลการดำเนินงานและความคืบหน้าให้ที่ประชุมสภานโยบายฯ ทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมได้เน้นย้ำในเรื่องการตั้งชื่อหน่วยงานให้ชัดเจน กระชับและจดจำได้ง่าย ส่วนการกำหนดพันธกิจ วัตถุประสงค์ของหน่วยงานต้องมีความครอบคลุม ทั้งในเรื่องของบทบาทและความสัมพันธ์กับหน่วยงานให้ทุนอื่นๆ ในระบบเดียวกัน ด้านโครงสร้างและการบริหารงานของหน่วยงาน ต้องแยกบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารและอนุกรรมการแต่ละส่วนของหน่วยงานให้ชัดเจน รวมถึงเมื่อรวมกันเป็นองค์การมหาชนแล้ว ต้องจัดการการจัดสรรทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรเตรียมหน่วยงานให้มีความคล่องตัว มีความพร้อมในการตั้งหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการให้ทุนกับภาคเอกชนโดยตรง เพราะเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำในประเทศอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่ง สอวช. จะนำข้อเสนอแนะและประเด็นสำคัญที่ได้จากที่ประชุมข้างต้นไปเพิ่มเติมให้การจัดทำระเบียบและการดำเนินงานส่วนต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) รายงานการพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ประจำปี 2564: การฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ สอวช. จัดทำขึ้น เพื่อรายงานขีดความสามารถด้าน อววน. ของประเทศ โดยชี้ให้เห็นตัวอย่างการดำเนินงานนำศักยภาพด้าน อววน. ไปแก้ปัญหาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมถึงการแก้ไขปัญหาสังคม และสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมให้ประเทศด้วย ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อรายงานถึงการดำเนินงานต่อไป