วช. ร่วมกับ จุฬาฯ และเครือข่ายวิจัยด้านน้ำ เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนและลดการใช้น้ำในพื้นที่ EEC พื้นที่ชลประทาน และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยเครือข่ายวิจัยด้านน้ำกว่า 8 แห่ง ร่วมทำงานวิจัยกว่า 20 โครงการ โดยเน้นผลวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ของหน่วยงานปฏิบัติ คาดแล้วเสร็จภายในกลางปี 2565 ผลงานวิจัยเล็งเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนของเขื่อนหลักอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นร้อยละ 85 จากเดิมร้อยละ 65 สำหรับในพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน พัฒนาการบริการจัดการน้ำเชิงพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้น้ำทุกภาคส่วน ให้เกิดการประหยัดการใช้น้ำลงอย่างน้อยร้อยละ 15 ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ชลประทานภาคกลางตอนบน

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม Kick-off แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการนํ้าปีที่ 2 กล่าวว่า วช. สนับสนุนทุนวิจัยแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ บน“ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย โครงการวิจัยเข็มมุ่ง ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ” ซึ่งเป็นการให้ทุนแบบใหม่ภายใต้การบริหารงานวิจัยแบบใหม่ เพื่อให้เกิดสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมให้ประเทศมีทรัพยากรน้ำทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ที่สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต ด้วยการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมุ่งเน้นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญและเป็นรูปธรรม มีเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ด้วยตัวชี้วัดที่สะท้อนการดำเนินงานตามแผนงาน

ปัจจุบันการดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 2 มุ่งเน้นพัฒนาด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่อเนื่อง พร้อมกับขยายผลและเชื่อมโยงงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม กฎหมาย และการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งได้ออกแบบโจทย์วิจัยร่วมกับหน่วยงานเชิงนโยบาย หน่วยงานปฏิบัติ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกำหนดโจทย์วิจัยที่ตรงตามความต้องการและนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินงานในครั้งนี้ วช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการแผนงานการบริหารจัดการน้ำปีที่ 2 ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ดังน้
กลุ่มที่ 1: การพัฒนากระบวนการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ EEC อย่างเต็มรูปแบบ
กลุ่มที่ 2: การพัฒนาเทคโนโลยีและเครือข่ายองค์กรการบริหารจัดการน้ำชลประทานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเขตพื้นที่ชลประทานท่อทองแดง จังหวัดกำแพงเพชร
กลุ่มที่ 3: การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของเขื่อนหลักและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ราบภาคกลาง
กลุ่มที่ 4: งานสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่นโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ
“การพัฒนาผลงานวิจัย การพัฒนานักวิจัย และการพัฒนาเครือข่ายวิจัยจากแผนงานวิจัยฯในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสนับสนุนหน่วยงานปฏิบัติ ภาคเอกชนและภาคประชาชนให้บรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน อย่างยั่งยืนต่อไป”

ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.วัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา และคณะผู้บริหารจากเครือข่ายวิจัยทั้งมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย และภาคเอกชน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด และ บริษัท คลิกเกอร์แล็บ จำกัด พร้อมทั้ง รองศาสตราจารย์ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการ แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคมแผนงานบริหารจัดการน้ำ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์ สุทธินนท์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ (ODU) ได้เข้าร่วมการประชุม Kick-off แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการนํ้าปีที่ 2 พร้อมทั้งประชุมเครือข่ายนักวิจัยทั้ง 20 โครงการจาก 8 หน่วยงาน เพื่อเชื่อมโยงผลลัพธ์ของแต่ละโครงการทั้ง 4 กลุ่มให้เชื่อมและสอดรับกัน รวมถึงแนวทางการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Leave a Reply

Your email address will not be published.