กระทรวง อว. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG โชว์งานวิจัย วว. ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย BCG โมเดล โชว์ผลงานวิจัยของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.)  ที่ได้ดำเนินโครงการตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ด้านการใช้ประโยชน์จุลินทรีย์โพรไบโอติกและสารชีวภัณฑ์ ระบุผลดำเนินงานในปี 2564  สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมได้กว่า   860  ล้านบาท    

ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า  อว. เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนประเทศเชิงบูรณาการในทุกมิติ   มุ่งใช้ความได้เปรียบเชิงทรัพยากรและวัฒนธรรมโดยการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เป็นฐานในการพัฒนา ที่มีเป้าหมายร่วมคือ “ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง สู่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างยั่งยืนภายใน 7 ปี” และจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกส่วนในสังคมได้รับผลกระทบนั้น อว. ได้ดำเนินงานเชิงรุกในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปช่วยตอบโจทย์ แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินงานแบบบูรณาการของหน่วยงานในสังกัดและพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีกลไกขับเคลื่อน อาทิ การสร้างเศรษฐกิจจากฐานจุลินทรีย์ให้มีมูลค่าอย่างน้อย  3,000  ล้านบาทต่อปี  โดยการสร้างผู้ประกอบการ  ธุรกิจฐานนวัตกรรม  เพิ่มสมรรถนะการวิจัยและบุคลากร  พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยเอื้อ (Microbial  bank การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์) ส่งเสริมการลงทุนและมาตรการทางการเงิน  รวมทั้งมุ่งเน้นสนับสนุนให้มีการทำเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมโดยรวม

“สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของ อว. ที่ได้รับการคัดเลือกจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เข้าร่วมโครงการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนด ตามแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ในด้านจุลินทรีย์และสารชีวภัณฑ์ที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนของ อว. เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น  ขอให้เชื่อมั่นว่าเราจะนำองค์ความรู้  ความเชี่ยวชาญของ อว. ช่วยให้สังคมของเราแข็งแกร่ง ยืนหยัดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก   เหล่าธรรมทัศน์  กล่าว 

    อว. มุ่งเป็นองค์กรเพื่อขับเคลื่อนการอุดมศึกษาไทย วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่มาตรฐานในระดับสากล และเพิ่มอันดับความสามารถการแข่งขันในระดับนานาชาติอย่างยั่งยืน ภายในปี  2580   ผลกระทบจากโควิด-19 เป็นที่ประจักษ์ของทุกภาคส่วนในสังคม ถือเป็นโอกาสของ อว. ที่จะนำผลงานการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน  สังคม  และประเทศ ให้เข้มแข็ง  สามารถปรับตัวให้อยู่กับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นให้ได้อย่างมีคุณภาพ  ด้วยวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ภาคภูมิใจและเชื่อมั่นว่า อว. และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ/เอกชน จะเป็นกลไกสำคัญที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ฟื้นตัวได้โดยเร็วและยั่งยืน  ดังที่แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้มุ่งเน้นการบูรณาการสหสาขาวิชา รวมถึงเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาโจทย์ท้าทายของประเทศในทุกมิติและเตรียมการสู่อนาคต

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว.  กล่าวถึงการดำเนินงานภายใต้โครงการใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดว่า  ผลการดำเนินงานในปี 2564  สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจำนวน  860  ล้านบาท  โดยได้รับการอนุมัติจำนวน  2  โครงการ ดังนี้  โครงการที่ 1  ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) เป็นคลังหัวเชื้อจุลินทรีย์กว่า 10,000  ชนิด  มีภารกิจวิจัยพัฒนา ผลิต บริการ ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากโพรไบโอติก/พรีไบโอติก ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคนไทย     ผลสำเร็จการดำเนินงานสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้  ขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ 25,000 ลิตรต่อปี พัฒนานวัตกรรมจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่โดดเด่นได้ 15 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และขึ้นทะเบียนสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกกับ อย. ได้แล้วจำนวน 8 สายพันธุ์และอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนอีก 7 สายพันธุ์  สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เสริมโพรไบโอติก  ได้แก่  ไอศกรีม  นมอัดเม็ด ปลาร้าผง  น้ำพริกพร้อมทาน เครื่องดื่มชงเย็น  jelly  และอาหารเสริมสูตรฟังก์ชั่นสำหรับ  1.ลดน้ำหนัก 2.สร้างภูมิคุ้มกัน  3.ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน  4.กระตุ้นการทำงานของสมอง และ 4.ปรับสมดุล   รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมการยืด Shelf life ของโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ  นวัตกรรมลดต้นทุนการผลิตโพรไบโอติกเพื่อการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ  นวัตกรรม synbiotics และ post-biotics  เพื่อเสริมภูมิสุขภาพและป้องกันโรค NCDs  สามารถสร้างผู้ประกอบการได้ 41 ราย  ชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ 30%  ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  380  ล้านบาท และผลกระทบทางสังคม 110  ล้านบาท

โครงการที่ 2   โครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล  มีผลสำเร็จการดำเนินงาน  ดังนี้ 

1. ผลิต “สารชีวภัณฑ์ 5 สายพันธุ์” ร่วมสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานพื้นที่ “กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด”  รวมจำนวน 1.3 ล้านลิตร เพื่อป้องกันกำจัดศัตรูพืชทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ลดสารพิษตกค้าง เพิ่มความปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรผู้ใช้ ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม  และลดการนำเข้าสารเคมีจากต่างประเทศ  โดย วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตสารชีวภัณฑ์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และอยุธยา ครอบคลุม   4  กลุ่มพืชเศรษฐกิจ ได้แก่  ไม้ผล พืชไร่ (ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง)  พืชสมุนไพรและพืชผัก    

2. พัฒนากระบวนการขยายชีวภัณฑ์ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการเพื่อขยายสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และระดับชุมชน  

3.  จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมผลิตเชื้อจุลินทรีย์ทางการเกษตร (Innovative  Center  for  Production  of   Microorganisms  Used  in Agro- Processing Industry, ICAP) มีกำลังการผลิต  115,000  ลิตรต่อปี  ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม  ดังนี้ 

1) มีเกษตรกรกว่า  200  ราย  นำเทคโนโลยีไปใช้ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการพัฒนาปัจจัยการผลิตหมุนเวียนสำหรับเกษตรกรแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นได้   5  ปัจจัยการผลิต   จำนวน   6   เทคโนโลยี   ดังนี้ 

    1.1 เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหน่อไม้ฝรั่งเพื่อการส่งออก

    1.2 เทคโนโลยีการผลิตข้าวเสริมซีลีเนียม

    1.3 เทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุเพาะเห็ด (ฟางข้าวเสริมซีลีเนียม กากมันสำปะหลัง)

    1.4 เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยด้วยปุ้ยอินทรีย์เคมีเสริมจุลินทรีย์ละลายฟอสเฟต 

    1.5 เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพและเพิ่มผลผลิตพืซด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโต  (มันสำปะหลัง กล้วย)

    1.6 เทคโนโลยีขยายชีวภัณฑ์ในถังชุมชนโมเดล วว.

 2) สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยมีเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และบริษัท รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต functional food และบรรจุภัณฑ์

 3)  มีผู้ประกอบการร่วมลงทุนด้าน  R&D  ภายใต้ BCG  Model

 4)  เกิดต้นแบบผลิตภัณฑ์ functional   food และเวชสำอาง จำนวน  10  ผลิตภัณฑ์ และต้นแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน  2  ต้นแบบ  ส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการดำเนินงานข้างต้นจำนวน  370   ล้านบาท

  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาจาก ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม  (ICPIM)  วว.   ติดต่อได้ที่  โทร.  061  414 3934, 0  2577  9771   โทรสาร  0 2577 9058  E-mail : brc@tistr.or.th และ ID Line : @brc_tistr    

สอบถามเกี่ยวกับ “สารชีวภัณฑ์”  ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. 0 2577  9016, 02-577 9021   โทรสาร 0 2577  9009  E-mail : tistr@tistr.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published.