เอ็มเทค สวทช. ส่ง‘เปลความดันลบ’ เคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด ช่วยบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มอีก 3 ชุด พร้อมมอบ รถส่งของ ‘อารี’ ลดเสี่ยงแพร่เชื้อในโรงพยาบาล
(20 พฤษภาคม 2564) ที่โถงชั้น 1 อาคาร สวทช. (โยธี) ถนนพระรามที่ 6 กทม. : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยทีมวิจัยเอ็มเทค ได้แก่ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ และ ดร.ก่อเกียรติ เศษชัยชาญ ร่วมกันส่งมอบ PETE (พีท) เปลปกป้อง: เปลความดันลบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 3 ชุด และรถส่งของบังคับทางไกล “อารี” เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับใช้ขนส่งสัมภาระให้ผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 1 ชุด ให้แก่โรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม สนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ทีมวิจัยการออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. ได้สร้างนวัตกรรมเปลความดันลบสำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 หรือ ‘PETE (พีท) เปลปกป้อง’ โดยออกแบบส่วนแคปซูลไร้โลหะ แข็งแรง ปลอดภัย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 สามารถนำผู้ป่วยเข้าเครื่องเอกซเรย์-ซีที สแกนปอด ขณะอยู่บนเปลเพื่อคัดกรองอาการในสถานพยาบาล หรือเคลื่อนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลด้วยรถพยาบาล โดยวันนี้ได้มอบเปลความดันลบ สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งทีมวิจัยได้เร่งผลิตเป็นกรณีพิเศษเพื่อสนองตอบความต้องการของประชาชนที่ต้องการบริจาคเปลความดันลบ ให้กับโรงพยาบาลสนามและสถานพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ บริจาคโดย นางสมบัติ สามิตสมบัติ 2. โรงพยาบาลกลาง กทม. และ 3. โรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 สังกัดโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ กทม. ทั้งนี้โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่งมี ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) รวมถึงผู้มีจิตศรัทธาอีกหลายท่านและสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนศรีอยุธยา ร่วมบริจาคอุปกรณ์นี้ เพื่อใช้ในการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์และบุคคลทั่วไปจากการแพร่กระจายเชื้อของโรคโควิด-19 รวมถึงลดภาระในการทำความสะอาด
นอกจากนั้นแล้ว เอ็มเทค สวทช. บริษัท บุญวิศวกรรม จำกัด และบริษัท เมตริก วิศวกรที่ปรึกษาและสถาปนิก จำกัด ยังส่งมอบ รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” เพื่อบุคลากรทางการแพทย์ ให้แก่ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ 1 ชุด เพื่อใช้ในการขนส่งสัมภาระแทนบุคลากรทางการแพทย์ เช่น การส่งอาหาร และยาให้แก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่พักภายในหอผู้ป่วย ช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยผู้สนใจบริจาค รถส่งของบังคับทางไกล “อารี” ให้กับโรงพยาบาล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เอ็มเทค สวทช. โทร. 0 2564 6500 ต่อ 4676
ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ หัวหน้าทีมวิจัยออกแบบและแก้ปัญหาอุตสาหกรรม เอ็มเทค สวทช. กล่าวเสริมว่า ทีมวิจัยรู้สึกดีใจและภูมิใจที่สามารถพัฒนาเปลความดันลบ มาช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ในภาวะวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทันท่วงที โดยก่อนหน้านี้ได้มีการส่งมอบเปลความดันลบ ให้แก่โรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนไปใช้งานแล้ว 5 แห่ง ซึ่งมีผลตอบรับในการใช้งานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด-19 อย่างดีมาก ทั้งในด้านการใช้งานเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่เน้นความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายเชื้อสู่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางแพทย์ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย การทำความสะอาดและบำรุงรักษาอุปกรณ์ ซึ่งสวทช. เป็นองค์กรวิจัยที่คิดค้นนวัตกรรมโดยคำนึงถึงและปฏิบัติตามมาตรฐานทางการแพทย์และอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยนวัตกรรมเปลความดันลบนี้ ทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและจำหน่าย ให้กับ บริษัทสุพรีร่า อินโนเวชั่น จำกัด เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้เกิดการผลิตและนำไปใช้งานได้ทันกับสถานการณ์การระบาดต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 08 1334 3672
ด้าน ดร.ภัทรารัตน์ ตันนุกิจ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ในฐานะตัวแทนผู้มีจิตศรัทธา กล่าวว่า โดยปกติแล้วการส่งต่อคนไข้โรคทั่วไปก็จะมีความยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ยิ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่งต่อผู้ป่วยมีความยากลำบากในการหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองไปอีกหลายเท่า ดังนั้นเปลความดันลบของเอ็มเทค สวทช. ที่มีการผลิตผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยและนำไปใช้ได้จริงแล้ว จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริจาคเห็นตรงกันว่าควรช่วยสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่มีอุปกรณ์ทำงานที่สะดวก ปลอดภัย ในการส่งต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลสนามเอราวัณ 2 สังกัดโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ หรือโรงพยาบาลสนามแห่งอื่นๆ ก็ตาม ซึ่งเดิมรับผู้ป่วยโควิด-19 จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย (ระดับสีเขียว) และเมื่อมีเคสผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว มีความเสี่ยง มีโรคร่วมที่สำคัญ (ระดับสีเหลือง) เปลความดันลบจึงเป็นคำตอบที่จะสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ ถือเป็นการปกป้องทั้งคนทำงานและผู้ติดเชื้อให้ได้รับการดูแลรักษาโรคในทันที