ไอแทป สวทช. จับมือ ทีเซลส์ ช่วยผู้ประกอบการพัฒนา Cell Enhancer นวัตกรรมเพิ่มสารออกฤทธิ์ชีวภาพ เสริมแกร่งธุรกิจอาหารฟังก์ชัน

ผู้ประกอบการไทย เจ๋ง สามารถพัฒนาไมโครแคปซูลของสารแคปไซซินจากพริก ผ่านกระบวนการสกัด และห่อหุ้มสารสกัดจากพริก เพิ่มขีดความสามารถ ด้านสารออกฤทธิ์ชีวภาพ (Functional Ingredients) ของประเทศไทย เพื่อการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์และส่งออก ตอบโจทย์โมเดล BCG

(28 กุมภาพันธ์ 2565) ณ โถงอาคาร สวทช. (โยธี) ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) พร้อมด้วย ดร.สรวง สมานหมู่ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโครงการดำเนินการวิจัยให้กับ บริษัท แอดวาเทค จำกัด ร่วมแถลงข่าวเพิ่มมูลค่าเกษตรไทย ตอบโจทย์โมเดล BCG หัวข้อ “Cell Enhancer นวัตกรรมเพิ่มสารออกฤทธิ์ชีวภาพ เสริมแกร่งธุรกิจอาหารฟังก์ชัน”

ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมไทย ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญ ได้ร่วมกันสร้างนวัตกรรม พัฒนาศักยภาพ หรือยกระดับการผลิตด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

จากผลการดำเนินงานในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ.2559-2564) โปรแกรม ITAP ได้ให้คำปรึกษาเบื้องต้นและเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการ มากกว่า 10,500 ราย โดยพัฒนาต่อยอดให้เกิดเป็นโครงการสนับสนุนพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงลึก มากกว่า 8,200 โครงการ ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ คิดเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการ ไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านบาท และเกิดการลงทุนเพิ่มในภาคเอกชนมากกว่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับการพัฒนาอาหารฟังก์ชันและการวิจัยทางคลินิกในอาหารฟังก์ชัน เป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการและไม่ใช่เรื่องง่าย ถือว่าเป็นเส้นทางใหม่ที่ต้องบุกเบิก ITAP จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตร คือ TCELS สนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ที่เป็นอาหารฟังก์ชัน (Functional Food) ส่วนผสมอาหาร (Functional Ingredient) รวมถึงการวิจัยทางคลินิก (Clinical Trial) ซึ่งความสำเร็จของ Cell Enhancer นวัตกรรมที่ช่วยให้สารสำคัญต่างๆ มีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์เพิ่มสูงขึ้น เป็นหนึ่งในโครงการที่ ITAP สวทช. ร่วมกับ TCELS ให้การสนับสนุน บริษัท แอดวาเทค จำกัด ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดย ดร.สรวง สมานหมู่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ เป็นผู้วิจัยและพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว สามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร สู่ Functional Ingredient ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Cell Enhanz TM” และเชื่อมโยงการนำ Cell Enhancer ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่ายในประเทศ และมีแผนส่งออกต่างประเทศ นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่นำแนวคิด BCG Model มาใช้ในการดำเนินธุรกิจเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตร พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง สร้างความเชื่อมั่นให้บริษัทคู่ค้า ปฏิวัติวงการเสริมอาหาร เวชสำอาง เครื่องดื่มและอาหารฟังก์ชัน ซึ่งจะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาอาหารฟังก์ชัน ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และโภชนเภสัช (Nutraceutical) ในอนาคตของประเทศไทยต่อไป

นอกจากนี้ บริษัท แอดวาเทค จำกัด ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการส่งออก Cell Enhancer ไปยังตลาดต่างประเทศ บริษัทฯ จึงได้รับการเสนอร่วมทุน กับ บริษัท แคนนาบี ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท NSTDA Startup โดยคาดหวังว่าภายในปี 2565-2566 บริษัทฯ จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการขายสาร Cell Enhancer และเกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ประกอบด้วยสาร Cell Enhancer ในสูตรของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้กลับเข้าสู่บริษัทและประเทศ

ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) กล่าวว่า ในปี 2563 TCELS ได้มีความร่วมมือกับโปรแกรม ITAP ภายใต้ สวทช. ในการให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการที่ต้องการวิจัยและพัฒนา อาหารฟังก์ชัน และ Functional Ingredient โดยภายใต้ความร่วมมือการสนับสนุนนี้ บริษัท แอดวาเทค จำกัด ADVATEC ได้พัฒนาสารแคปไซซินในรูปของไมโครแคปซูล เพื่อช่วยลดความเผ็ดร้อนพริก และศึกษาการปลดปล่อยสารสำคัญในภาวะ จำลองของระบบทางเดินอาหาร โดยทางบริษัทได้ดำเนินงาน
จนประสบความสำเร็จสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์สารสกัดไปสู่ต่างประเทศได้

ปัจจุบันบทบาทของ TCELS ได้ปรับเปลี่ยนไป โดย TCELS ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการแพทย์และสุขภาพ มีพันธกิจในการเร่งรัดขับเคลื่อนนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยให้ผลิตภัณฑ์กลุ่มการแพทย์ได้มีมาตรฐานสากลสามารถออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทำให้การขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ TCELS มุ่งเน้น ได้แก่ ยาชีววัตถุ เซลล์และยีนบำบัด (ไม่รวมผลิตภัณฑ์วัคซีน) เครื่องมือแพทย์หุ่นยนต์ทางการแพทย์ Medical AI โภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง โดยนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจะเน้นต้นแบบที่อยู่ปลายน้ำ

ดร.สรวง สมานหมู่ อนุกรรมการสภาความร่วมมือด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งประเทศไทย(MPCT) และคณะกรรมการ บริษัท Cannabi Biosciences (ฮ่องกง ประเทศจีน) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญดำเนินโครงการวิจัย ให้กับ บริษัท แอดวาเทค จำกัด กล่าวว่า บริษัท แอดวาเทค จำกัด ได้พัฒนาสารแคปไซซิน ในรูปของไมโครแคปซูล เพื่อลดผลของ Burning Sensation และช่วยเพิ่มการละลายน้ำและดูดซึมที่ลำไส้เล็กด้วย “Cell Enhanz” หรือ ไมโครแคปซูลของสารแคปไซซินจากพริก ผ่านกระบวนการสกัดและห่อหุ้มสารสกัดจากพริก ด้วยไบโอพอลิเมอร์สองชั้น ได้เป็นไมโครแคปซูลที่มีขนาดอนุภาคประมาณ 100-200 นาโนเมตร และถูกเตรียมให้อยู่ในรูปผงแห้ง เพื่อความสะดวกในการประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ด้วยเทคนิคฟรีช ดราย มีลักษณะเป็นเกล็ดผลึกสีส้ม สามารถเพิ่มการดูดซึมสารเรสเวอราทรอลได้ เนื่องจากแคปไซซินที่อยู่ในรูปของไมโครแคปซูล จะช่วยควบคุมการปลดปล่อยสาร ร่างกายจะค่อยๆ ดูดซึมสารสำคัญได้อย่างช้าๆ เป็นระยะเวลาที่ยาวนานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้การควบคุมการปลดปล่อยสารแคปไซซิน ยังช่วยยับยั้งกระบวนการ Glucuronidation เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สำคัญในการที่ร่างกายกำจัดสารแปลกปลอมออกจากร่างกาย ส่งผลให้สารธรรมชาติที่ละลายน้ำได้ไม่ดีอยู่แล้ว มีค่าทางเภสัชจลศาสตร์ที่ไม่ดี (ค่าการดูดซึมที่ลำไส้เล็กและค่าชีวประสิทธิผลต่ำ) ทั้งนี้นวัตกรรม Cell EnhanzTM ได้รับรางวัลนวัตกรรมเหรียญทองในงาน Inventions Geneva 2021 ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (เลขที่คำขอ 2101007830) เรียบร้อยแล้ว

“สาร Cell EnhanzTM สกัดจากธรรมชาติ ทำหน้าที่เป็น Co-Supplement สำหรับใช้เติมในผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อเพิ่มการดูดซึม (Absorption) และการนำไปใช้ประโยชน์ (Bioavailability) ทำให้สามารถใช้สารสกัดจากธรรมชาติหรือสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ในปริมาณที่น้อย แต่ดูดซึมได้มากขึ้นประสิทธิภาพสูงสุด” ดร.สรวง กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published.