เพิ่มมูลค่าจากกระบวนการไบโอรีไฟเนอรี “เปลือกมะนาว” สู่สารสำคัญในผลิตภัณฑ์ยาดมและอาหารเสริม

28 กุมภาพันธ์ 2565 ณ โถงอาคาร สวทช. (โยธี) ถ.พระรามที่ 6 กรุงเทพฯ: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท แคนนาบี ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท สตาร์ทอัพ ของ สวทช. แถลงข่าวความสำเร็จในการประยุกต์ใช้งานวิจัยและนวัตกรรม ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพิ่มมูลค่าเปลือกมะนาวสู่สารสำคัญในผลิตภัณฑ์ยาดมนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ “โครงการการศึกษากระบวนการไบโอรีไฟเนอรีของเปลือกมะนาวเพื่อให้ได้สารลิโมนีนคุณภาพสูงเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสารชีวเคมีภัณฑ์”

“โครงการการศึกษากระบวนการไบโอรีไฟเนอรีของเปลือกมะนาวเพื่อให้ได้สารลิโมนีนคุณภาพสูงเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสารชีวเคมีภัณฑ์” เป็นโครงการความร่วมมือของบริษัท แคนนาบี ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท สตาร์ทอัพ สวทช. ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) โดยการสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเน้นการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีในการเตรียมสารออกฤทธิ์สำคัญจากธรรมชาติให้อยู่ในรูปของโครงสร้างร่วมในระดับนาโน ที่ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพของสารสำคัญทางเภสัชจลศาสตร์ (Pharmacokinetics) ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึม (Absorbability) และ ค่าชีวประสิทธิผล (Bioavailability)

ดร.วีระวัฒน์ แช่มปรีดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรีและชีวภัณฑ์ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า การพัฒนากระบวนการไบโอรีไฟเนอรีของวัสดุเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการผลิตสารชีวเคมีภัณฑ์และวัสดุชีวภาพเป็นแนวคิดที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรซึ่งตอบสนองยุทธศาสตร์โมเดลเศรษฐกิจ BCG: Bio-/ Circular/ Green Economy ในระดับชาติ และแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรีและกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ S-curve ของภาครัฐ ทั้งนี้การแยกองค์ประกอบทางเคมีของวัสดุเหลือใช้จากการแปรรูปผลไม้กลุ่มซิตรัสโดยแนวคิดไบโอรีไฟเนอรี (citrus waste biorefinery) เป็นแนวทางที่ได้รับความสนใจในระดับโลกซึ่งกระบวนการที่พัฒนาขึ้นมีความหลากหลายขึ้นกับปัจจัยด้านวัตถุดิบและตลาดของผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเทศ อย่างเช่น มะนาว (Citrus aurantiifolia) เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของไทยซึ่งมีปริมาณผลผลิตถึง 140,000 ตัน/ปี ซึ่งส่วนหนึ่งนำไปใช้ผลิตน้ำมะนาวในกระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรมส่งผลในให้เกิดส่วนเปลือกซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ซึ่งยังคงมีการนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จำกัด โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนากระบวนการสกัดสารชีวภาพชนิดต่างๆ จากเปลือกมะนาวโดยใช้กระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำสารที่ได้ไปใช้เป็นส่วนผสมเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (healthcare products) ชนิดต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มมูลค่าของเปลือกมะนาวและนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของมะนาวตามห่วงโซ่มูลค่าอย่างยั่งยืน

ด้าน ดร.สุพิชชา โชคไพบูลย์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า โปรแกรม ITAP เป็นหน่วยงานภายใต้ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. มีภารกิจหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันที่สูงขึ้น ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยี (นักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญ) เข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี (ผู้ประกอบการไทย) โดย เมื่อผู้ประกอบการมีโจทย์ความต้องการด้านเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม ทางโปรแกรม ITAP ก็จะช่วยวิเคราะห์โจทย์และความพร้อมของบริษัทในเบื้องต้น จากนั้น ก็จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่ตรงโจทย์ความต้องการ เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาจเป็นด้านการวิจัยและพัฒนา หรือด้านการแก้ปัญหาต่างๆ ปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดต้นทุน ลดพลังงาน หรือโจทย์อื่นๆ ตามความต้องการของผู้ประกอบการ สำหรับโครงการฯ นี้ การนำเปลือกมะนาวมาพัฒนาเป็นสารสำคัญ Functional Ingredient ที่มีศักยภาพสูง เป็นสารที่มีความต้องการในตลาด Ingredient ในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถนำไปใช้ในเติมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นั้น ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ไทยในการทำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และยังตอบโจทย์ BCG เนื่องจากใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่มีในประเทศไทย คือเปลือกมะนาวซึ่งเป็น waste จากโรงงานอุตสาหกรรม อีกด้วย ดังนั้นการที่หน่วยงานภาครัฐอย่างโปรแกรมITAP สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนา จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและสามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเติบโตของผู้ประกอบการไทยต่อไป

ดร.สรวง สมานหมู่ ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท แคนนาบี ไบโอเทค จำกัด และ บอร์ดบริหาร บริษัท แคนนาบี ไบโอไซน์ (ฮ่องกง ประเทศจีน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสารกลุ่มเทอร์ปีนตัวแรกที่ทางบริษัทฯ และ ไบโอเทค สวทช. มุ่งเน้นในการแยกและค้นหาออกมาได้แก่ สารลิโมนีน (limonene) ที่มีความบริสุทธิ์สูง ซึ่งสารดังกล่าวเป็นสารในกลุ่มอะโรมาติกโมโนเทอร์ปีนที่เป็นองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย (essential oil) ที่ได้จากเปลือกผลไม้ตระกูลส้มและมะนาว โดยเน้นการนำมาใช้เป็นส่วนผสมเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์ยาดมฟังก์ชั่น (functional inhaler) และผลิตภัณฑ์โภชนเภสัชภัณฑ์ (nutraceutical) ซึ่งจัดเป็นสารที่ความปลอดภัยและมีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี โดยสามารถเปลี่ยนเป็นสาร building block ต่างๆ เพื่อใช้เตรียมสารที่มีมูลค่าสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งทำให้มีความต้องการสารลิโมนีนเพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนากระบวนการแยกสาร D-limonene จากเปลือกมะนาวซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีมากในประเทศไทยโดยใช้กระบวนการกลั่น ร่วมกับการลดขนาดวัตถุดิบโดยกระบวนการ wet milling ด้วยเครื่องบดผสมแบบเปียก (mass colloider) และการใช้เอนไซม์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการสกัด และศึกษาวิธีการเพิ่มความบริสุทธิ์ของสารผลิตภัณฑ์ที่ได้ รวมถึงประเมินแนวทางการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ร่วมที่ได้จากกระบวนการสกัดโดยเฉพาะเพคตินและเซลลูโลส ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีในรูปแบบของกระบวนการไบโอรีไฟเนอรีแบบบูรณาการในการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในประเทศ

ในส่วนของการประยุกต์และต่อยอดการใช้สารสำคัญจากโครงการวิจัยดังกล่าว ทางบริษัท แคนนาบี ไบโอเทค จำกัด ได้ร่วมมือกับบริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตในระดับกลางน้ำในการนำสารสำคัญที่ได้จากกระบวนการไบโอรีไฟเนอรี่ของเปลือกมะนาวไปเป็นส่วนหนึ่งของสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ยาดม เสริมอาหารและเวชสำอาง ซึ่งบริษัท โควิก เคทท์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ก็ได้รับมาตรฐานการผลิตทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ จึงมีความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับการส่งออก

“ผลผลิตของโครงการดังกล่าวในระยะแรก ทำให้เกิดผู้ประกอบการปลายน้ำหลายบริษัทที่ต่อยอดสารสำคัญที่ได้จากโครงการดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเจลลี่เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคลเซียม และผลิตภัณฑ์ยาดมฟังก์ชั่น ตราอินโน สำหรับผลิตภัณฑ์ยาดมนั้น ได้รับการทดสอบจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) โดยมี ดร. ธวิน เอี่ยมปรีดี เป็นหัวหน้าโครงการ พบว่า มีประสิทธิภาพลดการอักเสบในระดับเซลล์ และช่วยในการป้องกันการเข้าสู่เซลล์ของไวรัสจำลองโควิด-19 (SARS-CoV-2 pseudovirus) ซึ่งผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตจาก อย. เรียบร้อยแล้ว” ดร.สรวง กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published.