สอวช. โชว์ผลงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ในงาน BCG Startup Investment Day เชื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เร่งเดินหน้าสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการใหม่ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมแสดงข้อมูลด้านนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนในงานมหกรรม “BCG Startup Investment Day” ณ ศูนย์ C asean เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 จัดโดย บีโอไอและหน่วยงานพันธมิตรที่ผนึกกำลังสนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งมีผู้ร่วมงานกว่า 1,000 คน ทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้การพัฒนานวัตกรรมมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้ามาช่วยกระดับประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมที่เรามีความเข้มแข็งเป็นทุนเดิม ไม่ว่าจะเป็นเกษตร อาหาร การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยวและยานยนต์ ควบคู่กับการสร้างอุตสาหกรรม S-Curve ใหม่อย่างรถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยา ดิจิทัล โดยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุน ตลอดจนการเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดของภูมิภาค เพื่อพลิกโฉมไทย สู่เศรษฐกิจมูลค่าสูง รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับศักยภาพของธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs และ Startup ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ผ่านบุคลากรที่มีศักยภาพ และการสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ด้าน ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้มากมาย และจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ไทยบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างศักยภาพให้กับผู้เล่นทั้งองคาพยพ ทั้งในส่วนผู้ประกอบการเดิมที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการใหม่อย่างสตาร์ทอัพ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ซึ่งภายในปี 2030 เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจ ได้สูงถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์ (ของ GDP 90 ประเทศ) และสามารถสร้างงานได้มากถึง 395 ล้านตำแหน่ง หากไทยจะสร้างโอกาสทางธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนจะต้องมีการปรับตัว ในการส่งออกกับประเทศคู่ค้าที่มีมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ European Green Deal ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และ Carbon neutral
สอวช. ได้ดำเนินการศึกษาโครงการพัฒนานโยบายการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Policy Framework for Thailand Circular Economy) ศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทย รวมถึงได้อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิจัยเชิงระบบ : ระบบนิเวศนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน: วิสัยทัศน์ 2030 หรือ Circular Economy Innovation Ecosystem: Vision 2030 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม (Ecosystem) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ประกอบด้วย Milestone ต่างๆ ที่จะสามารถเป็นกรอบแนวคิดให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหยิบไปพัฒนาต่อตามบทบาทหน้าที่ ตลอดจนมีกรอบเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ช่วยในการมุ่งเน้นการดำเนินการอย่างมีทิศทางและกลุ่มเป้าหมาย (Target group) เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างก้าวกระโดด ด้วยจุดแข็งของบริบทที่มีอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สิ่งที่สำคัญคือต้องมียุทธศาสตร์มีเป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้รู้ว่าจะสามารถเดินไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร ซึ่งกรอบการพัฒนากลยุทธ์เศรษฐกิจหมุนเวียน เป้าหมายในปี 2030 แบ่งออกเป็น 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างน้อย 15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจหมุนเวียนร้อยละ 3 ของจีดีพี ซึ่งการจะมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ต้องมีการดำเนินการ 2 กลยุทธ์หลักคือ 1.การดำเนินการอย่างตรงจุด โดยมีทั้งส่วนที่เป็นการแก้ปัญหาเดิมและเป็นโอกาสของธุรกิจใหม่ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างก้าวกระโดด โดยใช้จุดแข็งของระบบและ ก้าวข้ามผ่านอุปสรรค/ข้อจำกัดของระบบนิเวศที่ยังไม่เอื้อต่อการดำเนินการเศรษฐกิจหมุนเวียนในปัจจุบัน และ 2. การพัฒนาโครงสร้างและปัจจัยเอื้อ เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียนให้สมบูรณ์ และเข้มแข็งพอที่จะนำไปสู่การขยายตลาด และสร้างความสามารถทางการแข่งขันกับผู้ประกอบการและการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยพัฒนาปัจจัยเอื้อในประเด็นต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการ ประชาชน/ผู้บริโภค และการทำงานของภาครัฐ
โดยที่ผ่านมา สอวช. ได้ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย) จัดเวที CE Innovation Policy Forum เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย ซึ่งจากเวทีนี้เอง สามารถสร้างเครือข่าย ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนได้กว่า 370 องค์กร และยังได้รับความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องที่เป็นทั้งกลุ่มภาคนโยบาย ภาคธุรกิจ ภาคการเงินการลงทุน ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม มาเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในสมุดปกขาว White Paper CE Innovation Ecosystem Vision 2030 และยังได้ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ในการดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้าน Circular Design & CE Innovation Hub 100 องค์กร ผ่านหลักสูตร CIRCO: Creating Business Through Circular Design จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับพัฒนาผู้ประกอบการ SME ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นเส้นทางสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างสร้างสรรค์และเป็นรูปธรรม ผ่านการทดลองคิด ทดลองทำ และเรียนรู้ร่วมกันกับเทรนเนอร์ที่มีประสบการณ์ด้านการออกแบบหมุนเวียนและที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของธุรกิจ โดยผู้เข้าร่วมอบรมนอกจากจะได้ Blueprint เพื่อนำไปเป็นแนวทางดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในโมเดลธุรกิจของตนเองแล้ว ยังทำให้เข้าใจกลยุทธ์การออกแบบและโมเดลธุรกิจในเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Design Strategy & Business Model) และได้แผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย (Implementation Plan and Roadmap) รวมถึงได้ทักษะการคิดเชิงออกแบบหมุนเวียน (Circularity Thinking) ด้วย นอกจากนี้ ในโครงการดังกล่าว สอวช. ยังได้ติดตามความก้าวหน้าและเก็บข้อมูลประเด็นสำคัญที่พบระหว่างการพัฒนาผู้ประกอบการ เพื่อที่จะเอามาวิเคราะห์ และดูว่าควรจะสนับสนุนนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างไร
นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ส่งต่อนโยบาย ไปยังหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เพื่อสนับสนุนงานวิจัย 4 แผนงานย่อยด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย 1. แพลตฟอร์มการพัฒนาธุรกิจรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Platform) 2. โมเดลความร่วมมือใน Value-chain เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Champion) 3. การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น การใช้วัตถุดิบรอบสองเพื่อสร้างมูลค่าเพื่อในระดับอุตสาหกรรม (CE RDI) และ 4. การพัฒนาปัจจัยเอื้อข้อมูลฐาน และมาตรการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE Enabling Factors)
นอกจากการดำเนินงานข้างต้นแล้ว สอวช. ได้มีการศึกษาเชิงระบบ โดยเฉพาะแนวทางการสร้างระบบนิเวศในด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อศึกษาดูภาพรวมการสร้างให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ และมองไปถึงกลไกการสนับสนุนการลงทุน สนับสนุนผู้ประกอบการ ผลักดันให้มีการให้ทุนวิจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการทำแพลตฟอร์มออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ เพื่อเป็นศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ และเห็นแนวทางเดินต่อในการประกอบธุรกิจ อีกส่วนที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน คือ การจัดตั้งเครือข่ายขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Thailand CE Hub เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการ อำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นแพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างภาคธุรกิจ และด้านนโยบาย และเป็นจุดศูนย์รวม ให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม