สอวช. เป็นผู้แทนประเทศไทยร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา สมัยที่ 25 (The United Nations Commission on Science and Technology for Development, Twenty-fifth Session)

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 เวลา 19.30 – 21.30 น. ตามเวลาประเทศไทย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับมอบหมายจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้แทนประเทศไทย กล่าวถ้อยแถลงในหัวข้อ “Science, Technology and Innovation for Sustainable Urban Development in a Post-Coronavirus (COVID-19) World” ในการประชุม High-Level และร่วมประชุม Ministerial Discussion ซึ่งเป็นช่วงหนึ่งของการประชุม UN Commission on Science and Technology for Development (CSTD) สมัยที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายน 2565 โดยเป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสาน (Geneva and Online)

ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวในการประชุม High-Level หัวข้อ “Science, Technology and Innovation for Sustainable Urban Development in a Post-Coronavirus (COVID-19) World” ว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน การดำเนินการร่วมกันและความร่วมมือในระดับชาติและระดับนานาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายในยุคหลังโควิด-19 มีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ได้กล่าวขอบคุณอังค์ถัดซึ่งทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการการประชุม CSTD ที่ได้เน้นความสำคัญของ BCG Model ซึ่งเป็นนโยบายของประเทศไทยเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน และเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ โดยได้บรรจุ BCG Model ไว้ในรายงานของเลขาธิการสหประชาชาติ

ในโอกาสดังกล่าว ดร.กิติพงค์ กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 3 ประการที่ประเทศไทยดำเนินการเพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้แก่ 1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสร้างโอกาสในการขยับสถานะทางสังคม (Social Mobility)  ที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน   2. การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Net Zero Emission)  และ 3. ความมั่นคง ด้านสุขภาพและการพัฒนาเขตนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพในยุคหลังโควิด-19 (Health Security – Wellness Innovation Corridor)

ดร.กิติพงค์ ยังเน้นย้ำว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นทางออกสำหรับการสร้างเมืองที่น่าอยู่อย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งในประเด็นดังกล่าวต้องการการสนับสนุนที่เข้มแข็งจากรัฐบาลและทุกภาคส่วนของสังคม รวมถึงพันธมิตรระหว่างประเทศทั้งในแง่ของนโยบายและการนำไปปฏิบัติ

ทั้งนี้ ในช่วงการประชุม CSTD สมัยที่ 25 อังค์ถัดได้ร่วมกับประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมคู่ขนาน (Side events) ที่น่าสนใจและหลากหลาย โดย ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. ได้รับเกียรติจากอังค์ถัดและคณะผู้แทนถาวรสาธารณรัฐตุรกี ประจำองค์การการค้าโลก เชิญเข้าร่วมอภิปรายในการประชุมคู่ขนาน หัวข้อ “AI Strategies for Inclusive and Sustainable Development” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2565 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

โดย ดร.กาญจนา ได้อภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประเทศไทยในการจัดทำนโยบายปัญญาประดิษฐ์ ตัวอย่างโครงการขับเคลื่อนที่สำคัญ เช่น การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในเรื่องศักยภาพและการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างรู้เท่าทัน รวมถึงประเด็นท้าทายในการวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ เช่น ธรรมาภิบาลของการใช้ข้อมูล ประเด็นจริยธรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ประเทศไทย โดยคณะผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ร่วมกับอังค์ถัดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคู่ขนานในหัวข้อ “Bioeconomy, Circular Economy and Green Economy for Sustainable Development” ในวันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางระดับชาติและระดับนานาชาติในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals: SDGs) และสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) โดยมีผู้แทน อว. เข้าร่วมประชุมและอภิปราย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย โดย สอวช. มีวาระเป็นสมาชิก CSTD ระหว่างปี 2558-2561 และระหว่างปี 2562-2565 โดย CSTD เป็นเวทีสำคัญในการสานต่อบทบาทที่แข็งขันของไทยในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและผลักดันนโยบายของประเทศไทยในเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรืออังค์ถัด และในเวทีสหประชาชาติ อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือด้าน วทน. ระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สอวช. ได้ปฏิบัติหน้าที่ผู้แทนไทยร่วมกับกระทรวง อว. และกระทรวงการต่างประเทศอย่างสำเร็จเรียบร้อยทุกครั้งตลอดวาระที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

สามารถดูรายละเอียดข้อมูลการประชุมและถ้อยแถลงเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์การประชุม CSTD สมัยที่ 25   https://unctad.org/meeting/commission-science-and-technology-development-twenty-fifth-session

Leave a Reply

Your email address will not be published.