เยาวชนไทย และนานาชาติร่วมเสนอผลงานวิจัยดาราศาสตร์ ในงานประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 8 ณ จังหวัดเชียงใหม่
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเวทีนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน จัดประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ครั้งที่ 8 (TACs2022) ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีเยาวชนไทยและต่างประเทศร่วมนำเสนอกว่า 80 ผลงาน หวังยกระดับมาตรฐานงานวิจัยระดับโรงเรียน สร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมให้เกิดยุววิจัยรุ่นต่อ ๆ ไป
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) เป็นเวทีให้เยาวชนไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมนำเสนอโครงงานดาราศาสตร์ เปิดโอกาสให้เยาวชนที่สนใจดาราศาสตร์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ ผ่านกระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ระดับโรงเรียน ภายในงานมีผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ ร่วมรับฟังพร้อมให้คำแนะนำ เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอดงานวิจัย อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ เกิดยุววิจัยรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงก่อให้เกิดเครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับเยาวชน ซึ่งจะก้าวสู่เครือข่ายงานวิจัยดาราศาสตร์ในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต
การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) ประจำปี 2565 นับเป็นครั้งที่ 8 ของการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นทั้งในรูปแบบ On-site และ Online มีเยาวชนจากทุกภูมิภาคของไทยและจากต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเชีย มาเลเซีย ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 84 ผลงาน แบ่งเป็นการนำเสนอผลงานรูปแบบบรรยาย 35 โครงงาน และแบบโปสเตอร์ 49 โครงงาน ภายใต้หัวข้อหลัก 6 ประเภท ได้แก่ 1) ดวงอาทิตย์ 2) ระบบสุริยะและดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ 3) ดาวฤกษ์ 4) ดาราศาสตร์เชิงสังเกตการณ์ 5) กาแล็กซีและเอกภพ และ 6) อุปกรณ์และโปรแกรมทางดาราศาสตร์ ผลงานที่นำเสนอภายในงาน ส่วนหนึ่งมาจากงานวิจัยของครูและนักเรียนในโครงการอบรมครูเชิงปฏิบัติการด้านดาราศาสตร์ขั้นสูงในความร่วมมือระหว่าง สดร. กับ สสวท. ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้เรียนและผู้สอนด้านดาราศาสตร์ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างผลงานวิจัยในรูปแบบโครงงานดาราศาสตร์ในโรงเรียน มีครูเป็นผู้กำกับดูแล ให้คำปรึกษา และสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศของ สดร. สำหรับทำงานวิจัย โดยมีเจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร. และผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการดาราศาสตร์ กล้องโทรทรรศน์ขนาดต่าง ๆ สื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์ และท้องฟ้าจำลอง DIY เคลื่อนที่ รวมถึงนำผู้เข้าร่วมงานทุกท่านเดินทางไปเยี่ยมชมนิทรรศการทางดาราศาสตร์และชมท้องฟ้าจำลอง ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ด้วย
นายมติพล ตั้งมติธรรม นักวิชาการดาราศาสตร์ สดร. และคณะกรรมการ กล่าวว่า ปัจจุบัน โรงเรียนทั่วประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มากขึ้น โดยเฉพาะสาขาดาราศาสตร์ เป็นโอกาสดีที่นักเรียนจะได้นำองค์ความรู้ในห้องเรียนไปบูรณาการ และประยุกต์ใช้ในความเป็นจริง พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสอนให้รู้จักการตั้งคำถาม คิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญยิ่งสิ่ งที่ทำให้การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) โดดเด่น คือรูปแบบโครงงานที่หลากหลาย มีหลายโครงงานที่เริ่มมาจากคำถามง่าย ๆ จากการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ทั่วไป ในชีวิตประจำวัน และสามารถค้นคว้าหาคำตอบได้ด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายโครงงานที่นักเรียนได้ใช้ทักษะเฉพาะของตัวเอง เช่น การเขียนโปรแกรม การสร้างแบบจำลองหรือเครื่องมือ ฯลฯ เพื่อตอบคำถามที่ตัวเองสงสัย ไปจนถึงโครงงานที่นักเรียนได้สัมผัสการงานใช้กล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมือนกับนักวิจัยดาราศาสตร์ตัวจริง นับเป็นการเรียนรู้วิชาชีพสายดาราศาสตร์ที่เสมือนจริงที่สุดวิธีหนึ่ง ช่วยให้นักเรียนได้ค้นหาตัวเองจากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน
นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ สดร. จัดให้มีการมอบเหรียญรางวัลให้แก่ผลงานรูปแบบบรรยายที่ยอดเยี่ยม ประกอบด้วย เหรียญทอง 7 รางวัล เหรียญเงิน 11 รางวัล และเหรียญทองแดง 9 รางวัล และเหรียญทองแดง คณะกรรมการได้คัดเลือกโดยคำนึงถึง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ความชัดเจนของการนำเสนอผลงานความเข้าใจในเนื้อหาของผู้บรรยาย ความถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ และความแปลกใหม่ของตัวงาน
การประชุมวิชาการดาราศาสตร์แห่งประเทศไทย (สำหรับเยาวชน) จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง เปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำเสอผลงานการวิจัย และแลกเปลี่ยนความรู้ทางดาราศาสตร์ รับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และต่อยอดงานวิจัยสู่ระดับสากล สำหรับผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมในครั้งถัดไปสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.narit.or.th