ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหาร นวัตกรรมลงสวนทุเรียน-นาข้าวตอบ BCG

หลังประสบความสำเร็จจากการต่อยอดงานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ “ปุ๋ยคีเลต” เพิ่มผลผลิตให้กับสวนทุเรียน นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมนี้ ลงนาข้าว ช่วยชาวนาเพิ่มผลผลิต 25-50% ต่อไร่ ด้วยจุดเด่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซึมจุลธาตุอาหารเข้าสู่พืช ตอบนโยบาย BCG ที่ “ทำน้อยได้มาก” ด้วย วทน.

ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยคีเลต เป็นการต่อยอดงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” ที่แก้ปัญหาการสูญเสียและไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพของการเติมจุลธาตุอาหารให้กับพืช เพื่อให้พืชมีความสมบูรณ์ ด้วยธาตุอาหารกลุ่มนี้ตกตะกอนง่าย พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างเต็มที่

 “สารคีเลตจุลธาตุอาหาร” ที่นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาขึ้นนั้น เป็นการเตรียมจากกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยขององค์ประกอบประเภทโปรตีนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ผ่านกระบวนการห่อหุ้มจุลธาตุอาหารในรูปแบบสารเชิงซ้อน ให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ดี พร้อมพัฒนาให้สามารถห่อหุ้มจุลธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการยึดเกาะใบด้วยสารโมเลกุลขนาดใหญ่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ได้ 20-50%

ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืชที่พัฒนาโดยทีมวิจัยนาโนเทคนี้ มีองค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์เหมาะสำหรับพืชไร้ดินและพืชทั่วไป ใช้งานโดยการฉีดพ่นทางใบ ช่วยแก้ปัญหาการตกตะกอน และการสูญเสียธาตุอาหารเสริมทางดิน โดยเมื่อฉีดพ่นสารคีเลตซึ่งมีคุณสมบัติช่วยพาธาตุอาหารเข้าสู่พืชได้ง่ายขึ้นแล้ว พืชจะสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืช,  เพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารทางปากใบ, เพิ่มกรดอะมิโนให้แก่พืช นอกจากนี้ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดอันตรายจากการใช้สารสังเคราะห์ และลดค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็น

“เราเริ่มทดสอบภาคสนามในพืชเศรษฐกิจ 2 ชนิดคือ ทุเรียน และข้าว ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากไทยส่งออกทุเรียนประมาณ 0.65 ล้านตันต่อปี โดยมีพื้นที่เพาะปลูกราว 1 ล้านไร่ มูลค่ามากกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ในขณะเดียวกัน เราส่งออกข้าวประมาณ 6.11 ล้านตันต่อปี โดยมีพื้นที่เพาะปลูกราว 60 ล้านไร่ มูลค่ามากกว่า 10.07 หมื่นล้านบาท” ดร.คมสันต์ กล่าว

ผลการทดสอบภาคสนามที่ทีมวิจัยนาโนเทคร่วมกับบริษัท เทค ซายน์ จำกัด เอกชนที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยี พบว่า ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืชนี้ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตทุเรียนต่อไร่ 20-40% โดยได้มีการทดสอบในสวนทุเรียนภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ EEC ในขณะเดียวกัน ปุ๋ยคีเลตนี้ ก็ทำการทดสอบในพื้นที่นาข้าว โดยผลคือ สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ 25-50%

นักวิจัยนาโนเทคชี้ว่า ด้วยมูลค่าการนำเข้าธาตุอาหารรอง-เสริมเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้นวัตกรรมปุ๋ยคีเลตนี้ มีความเป็นไปได้สูงสำหรับการต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่ตอบความต้องการของเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง

ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืช เป็นนวัตกรรมตอบโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มมูลค่าผลผลิตต่างๆ ช่วยให้เกษตรกร ‘ทำน้อยแต่ได้มาก’ เป็นการใช้ วทน. เพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิต โดยใช้ปริมาณปุ๋ยน้อย ใช้ต้นทุนที่ถูกลง ทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น มีภาคเอกชนรับถ่ายทอดเทคโนโลยี และต่อยอดสู่ปุ๋ยคีเลตที่ส่งตรงถึงผู้ใช้ และตอบความต้องการของเกษตรกร โดยเฉพาะในพืชเศรษฐกิจอย่างทุเรียน ข้าว และพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ในอนาคต ผลงานวิจัย “ปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืช” เป็น 1 ใน 8 นวัตกรรมไฮไลท์ ภายในงานแถลงข่าว “การจัดงานประชุมและนิทรรศการ APEC BCG Economy Thailand 2022: Tech to Biz” โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

Leave a Reply

Your email address will not be published.