โครงการวิจัยเรื่อง “Response of Thai rice varieties under elevated CO2 concentrations”  โดย ดร.โจนาลิซ่า แอล เซี่ยงหลิว ได้รับการคัดเลือกเพื่อระดมทุนวิจัยจากแหล่งทุน experiment.com

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก จากข้อมูลธนาคารโลก พบว่า มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูกข้าวคิดเป็น 10% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด และ 25-33% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก เนื่องจากข้าวเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของประเทศ

นักวิจัยไบโอเทคมีความพยายามหาวิธีการเพาะปลูกข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยโครงการวิจัย “การตอบสนองของข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ ภายใต้สภาวะคาร์บอนไดออกไซด์สูง”ของ ดร.โจนาลิซ่า แอล เซี่ยงหลิว นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)   ได้รับการคัดเลือกเพื่อระดมทุนวิจัยจาก experiment.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการระดมทุนและแลกเปลี่ยนการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ดร.โจนาฯ มีความมุ่งมั่น ที่จะนำความเชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวระดับโมเลกุล (molecular breeding) และการวิเคราะห์ตำแหน่งทางพันธุกรรม (QTL mapping) มาใช้ในการค้นหาลักษณะเฉพาะของข้าวไทยพันธุ์ต่างๆ เมื่อเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยยังคงคุณลักษณะที่ดีของเมล็ดข้าวไว้   

     ดร.โจนาฯ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว และชาวนาไทยได้รับความเสียหายจากผลกระทบดังกล่าว ซึ่งการระบุพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพในการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ จะช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศและเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหารสำหรับประชาชน โดยการที่ต้นข้าวสามารถนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ได้มากขึ้นจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนา เป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ชาวนาไทยและประเทศชาติในภาพรวม

     ดร.โจนาฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การระบุคุณลักษณะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้คาร์บอนไดออกไซด์เป็นแหล่งอาหารในข้าว  มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรม สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป

     โครงการวิจัยดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุลักษณะเฉพาะของข้าวที่ตอบสนองต่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้น คณะผู้วิจัยจึงมีความต้องการงบประมาณเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยเบื้องต้น โดยจะทำการทดลองในระบบปลูกพืชแบบปิดที่มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในสภาวะปกติ และสูงกว่าปกติ แล้วศึกษาลักษณะของใบ ลำต้นและรากในระยะแตกกอและออกดอก รวมทั้งรายละเอียดภายในจากภาคตัดขวาง ลักษณะที่แตกต่างกันของข้าวภายใต้สภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่างกันจะสะท้อนให้เห็นการตอบสนองของต้นข้าวต่อคาร์บอนไดออกไซด์ และลักษณะที่มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตภายใต้สภาวะที่มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง ข้อมูลดังกล่าวจะใช้ในการศึกษาการควบคุมทางพันธุกรรมของลักษณะที่ตอบสนองภายใต้สภาวะคาร์บอนไดออกไซด์มากต่อไป

ดร.โจนาฯ ทิ้งท้ายไว้ว่า โครงการยังต้องการการสนับสนุนเพื่อผลักดันภารกิจที่สำคัญนี้ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น และยังมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ชาวนา และประชาคมโลก โดยผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและร่วมบริจาคได้ทางเว็ปไซต์ข้างล่าง ได้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2566 เวลา 9.00 น. จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย

https://experiment.com/projects/response-of-thai-rice-varieties-under-elevated-co2-concentrations#endorser-1249285

Leave a Reply

Your email address will not be published.