บูรณาการความรู้ 17 มหาวิทยาลัยปัดเป่าความจน 7 จังหวัดนำร่อง
บพท. เพิ่มความเข้มข้นระดมสรรพกำลังปลุกปั้น 7 จังหวัดต้นแบบนำร่อง ผนึกกำลังเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ต่อยอดฐานข้อมูล ศจพ.และขยายผลงานวิจัย 8 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ติดอาวุธเติมชุดความรู้ด้านเทคโนโลยี ตั้งเป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิต ให้ชาวบ้านกว่า 3 หมื่นคน หลุดพ้นวงจรความยากจน ยกระดับรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 พร้อมสร้างนวัตกรแก้จน ในพื้นที่ 2,100 คน
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เปิดเผยว่า บพท. ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง จัดทำแผนงานวิจัยและนวัตกรรม “ขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ โดยการเพิ่มโอกาสและลดช่องว่างของการเข้าถึงการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยี และนวัตกรรม” สำหรับปีงบประมาณ 2566 โดยพุ่งเป้าไปที่ 7 จังหวัดต้นแบบพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขจัดความยากจน และสร้างโอกาสทางสังคม ได้แก่ ภาคเหนือ – ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด และภาคใต้ – พัทลุง ปัตตานี ยะลา
“แผนงานดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากฐานข้อมูลที่ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ใน 7 จังหวัดต้นแบบ และต่อยอดงานวิจัยที่ 8 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้ดำเนินการไว้ก่อนแล้ว”
ดร.กิตติ กล่าวด้วยว่า แผนงานวิจัยและนวัตกรรมขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการเพิ่มโอกาส พัฒนาอาชีพใน 7 จังหวัดต้นแบบที่เป็นเป้าหมาย เป็นการขยายผลจากการที่ บพท.ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ในการสอบทาน และยืนยันเป้าหมาย ใน 20 จังหวัดนำร่อง จนสามารถค้นหาและสอบทานข้อมูลครัวเรือนยากจน (ปี 2563 -2565) จำนวน 231,220 ครัวเรือน หรือ 1,041,076 คน คน ด้วยระบบ PPP Connext (ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่) ภายใต้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมของกลไกภาคีในพื้นที่ ได้แก่ องค์กรชุมชน ประชาสังคม ท้องถิ่น ท้องที่ สถาบันวิชาการ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถระบุกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน นำไปสู่การแก้ไขปัญหา มีการสร้างระบบช่วยเหลือทั้งในแบบสงเคราะห์ที่เชื่อมโยงกับระบบช่วยเหลือภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม
รวมถึงการนำร่องปฏิบัติการแก้จนบนฐานทุนและศักยภาพครัวเรือนยากจน วิเคราะห์ข้อมูลตามฐานดำรงชีพ 5 ด้าน ได้แก่ ทุนกายภาพ ทุนเศรษฐกิจ ทุนสังคม ทุนทรัพยากรธรรมชาติ และทุนมนุษย์ พัฒนาเป็นโมเดลแก้จน ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งด้านการเกษตร การแปรรูป การตลาด วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ อาทิ โครงการกระจูดแก้จน จ.พัทลุง รถพุ่มพวงแก้จน จ.บุรีรัมย์ ตัวอย่างการจัดการที่ดินแปลงรวมนิคมคมสร้อย จ.มุกดาหาร โมเดลปลูกผัก จ.กาฬสินธุ์ เป็นต้น
ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวอีกด้วยว่าสำหรับในปี 2566 จะเป็นการทำงานต่อยอด เติมเต็มด้านการเรียนรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ให้เกิดรายได้ต่อตัวเองและครอบครัวอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ประยุกต์ใช้และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate technology) ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการพัฒนาอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อเข้าถึงโอกาสในการยกระดับฐานะทางสังคม (Social Mobility) ให้หลุดพ้นจากความยากจน โดยมีเป้าหมายในการช่วยเหลือคนจนไม่น้อยกว่า 6,020 ครัวเรือน รวม 30,100 คน มีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และสามารถสร้างนวัตกรแก้จน ที่มีขีดความสามารถในการรับ ปรับใช้ และขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมในพื้นที่ 2,100 คน
ที่สำคัญสำหรับการวางรากฐานเพื่อพัฒนาในอนาคต คือ การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากคลังข้อมูลเทคโนโลยี และนวัตกรรม (Technology and Innovation Library) ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล กับแพลตฟอร์มการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำระดับจังหวัด เพื่อการเรียนรู้ ถ่ายทอดขยายผล และนำไปประยุกต์ใช้พื้นที่ต่างๆ
“การทำให้คนจนล่างสุดได้เข้าถึงโอกาส ได้เงยหน้าอ้าปาก จากระบบส่งต่อความช่วยเหลือกระบวนการสอบทานข้อมูล เพื่อชี้เป้าคนจนที่แม่นยำ การสร้างนวัตกรรมแก้จนที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และศักยภาพคนจนในพื้นที่เป้าหมาย นำไปสู่กลไกแผนพัฒนาระดับพื้นที่ท้องถิ่น แผนพัฒนาจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนอย่างตรงเป้า ลดความเหลื่อมล้ำ คือเป้าหมายสำคัญยิ่งของงานวิจัย บพท.”
สำหรับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์