“60 ปี” วว. ขับเคลื่อนความสำเร็จ สร้างสรรค์งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“…การดำเนินงานเป็นระยะเวลา 60 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับคน องค์กร และในหลายๆ เรื่อง เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นโอกาสที่สำคัญ วว. ถือเป็นองค์กรที่มีจุดเปลี่ยนผ่านการดำเนินงานที่ยั่งยืน หากองค์กรใดมีการฝ่าฟันมาครบ 60 ปี จะเป็นองค์กรที่มีประสบการณ์ ผ่านบทเรียนต่างๆ

ทั้งนี้ วว. เป็นสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ แห่งแรกของไทย จากอดีตถึงปัจจุบัน วว. ได้มีการขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับจากหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศ

วว. อยู่ถูกที่ถูกเวลา มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะด้านชีวภาพ ความหลากหลายทางพันธุกรรม นอกจากนั้นยังมีความสอดคล้องกับกระแสของโลกที่มุ่งไปยังด้านสิ่งแวดล้อม การคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ วว. ยังได้รางวัลมากมายในหลากหลายสาขาทั้งด้านสังคมและการบริหารจัดการ ขอชื่นชมการดำเนินงานของ วว. ซึ่งจะเป็นต้นไทรใหญ่ที่หยั่งรากลึกและเติบโตอย่างยั่งยืน จะเป็นต้นไทรที่ให้ความร่มเย็น และเป็นองค์กรที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์ของประเทศก้าวต่อไป…”

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และประธานคณะกรรมการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้กล่าวข้อความข้างต้นภายหลังพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่บุคลากร เนื่องใน วันคล้ายวันสถาปนา วว. ครบรอบ 60 ปี “Proud of TISTR Step Up Together” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 อาคาร Admin ชั้น 5 วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

ทั้งนี้ วว. มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในด้านการวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในการสร้างคน แก้ไขความยากจน และเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแกร่ง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และดำเนินการพัฒนาประเทศให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

โดยในปี 2566 วว. สนองนโยบายการขับเคลื่อนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

หลายทศวรรษที่ผ่านมา วว. เพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคอุตสาหกรรมและ SMEs ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน โดยได้ขยายขอบข่ายงานวิจัยและบริการ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม New S-Curve ของรัฐบาล ตลอดจนการส่งเสริมงานวิจัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในกระแสโลกปัจจุบัน และจากผลงานที่ผ่านมา วว. ได้รับรางวัลดีเด่นในหลายด้าน อันเป็นเครื่องหมายรับรองถึงผลงานเชิงคุณภาพ ผลจากความมุ่งมั่นและตั้งใจ ตลอด 60 ปี ของ วว. ส่งผลให้การขับเคลื่อนงานบรรลุเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง และได้รับการรับรองมาตรฐานสากล รวมทั้งยกระดับรายได้ชุมชนในกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก ช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่สมดุลกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

“…ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เราทุกคนจะต้องปรับตัว ปรับวิถีการใช้ชีวิตและการทำงานให้คุ้นเคย และ วว. จะต้องเร่งก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสอย่างดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ขณะนี้ วว. ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Top ten performance ของ 51 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทย เป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาว วว. ในโอกาสครบรอบคล้ายวันสถาปนา 60 ปี ต่อจากนี้ไป เราจะช่วยกันทำให้ วว. เติบโตต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด… วว. JUMP เพื่อให้ วว. และประเทศชาติอันเป็นที่รักยิ่งของเรามีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป…”

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวในโอกาสรายงานความสำเร็จของการดำเนินงานครบรอบ 60 ปี “Proud of TISTR Step Up Together” ตลอดระยะเวลา 60 ปี ในการดำเนินงานจวบปัจจุบัน วว. มีผลงานที่เป็นรูปธรรม ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังนี้

  • การพัฒนาผลงานวิจัย เทคโนโลยีและการขยายบริการ ที่มีความหลากหลายสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
  • มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน วทน. เพื่อการต่อยอดผลงานวิจัยไปสู่การผลิตและขยายผลในส่วนกลาง เช่น โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ศูนย์
    นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) คลังจุลินทรีย์ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง รวมทั้งโรงงานในภูมิภาค เช่น ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียืดอายุลําไย (ลําพูน) ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาคาร SMEs ที่ได้รับสิทธิ BOI รวมทั้งมีหน่วยงานสถานีวิจัยในภูมิภาค เช่น สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถานีวิจัยลำตะคอง จ.นครราชสีมา
  • มีบุคลากรที่มีประสบการณ์สูงและความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยหลากหลายสาขา สามารถประยุกต์ไปสู่การปฏิบัติและบูรณาการได้ครบวงจร (Total solution) ทั้งบริการวิจัย บริการที่ปรึกษา บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ตรวจประเมินและรับรองระบบคุณภาพ จึงสามารถสร้างความโดดเด่นในการให้บริการที่แตกต่างไปจากคู่แข่งได้ รวมทั้งมีเครือข่ายพันธมิตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
  • มีทีมบุคลากรที่มีความสามารถในการพัฒนาระบบดิจิทัลสําหรับใช้ภายในหน่วยงาน
  • องค์กรได้รับการรับรองระบบตามมาตรฐานสากล และมีการขยายขอบข่ายงานบริการที่มีศักยภาพตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง เป็นที่เชื่อถือของหน่วยงานกํากับ (Regulator)
  • มีการประสาน วทน. กับภูมิปัญญาท้องถิ่นในรูปแบบชุมชนนวัตอัตลักษณ์ และมีเครือข่ายร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และชุมชน (Quadruple Helix) ซึ่งเป็นการสนับสนุนงานด้านการวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย จึงทำให้ วว. สามารถสร้างผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจและสังคมได้สูงถึง 24,000 ล้านบาท
  • มีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการใช้เงินทุนต่ำ

ในปีที่ 60 และก้าวต่อไปอย่างมั่นคงของ วว. นั้น เต็มเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์ของผู้บริหาร บุคลากร ในองค์กร ที่พร้อมผลิตผลงานวิจัย บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยเราให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน อยู่ในอันดับแถวหน้าในเวทีนานาชาติต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published.