“เอนก” แนะติดอาวุธวิชาชีพให้กลุ่มฐานราก สร้างแรงบันดาลใจพัฒนาตนเอง เสนอตั้ง “สมาคมคนเคยลำบาก” เป็นพี่เลี้ยงแนะแนวทางดึงคนฐานรากขยับสถานะพ้นความยากจน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผ่านระบบออนไลน์ โดยมี ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม
สอวช. ได้เสนอประเด็นมาตรการและกลไกการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก โดย ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่ทั้งรัฐบาลและสังคมให้ความสนใจ และมีความเชื่อมโยงกับการขยับฐานะประชากรกลุ่มฐานราก หากสังคมใดมีการขยับฐานะประชาชนกลุ่มฐานรากให้สูงขึ้นได้ก็จะถือว่าดีมาก
ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก ยังได้ฉายภาพให้เห็นถึงการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานรากของไทย ที่เริ่มขึ้นมาตั้งแต่มีการเลิกทาสในรัชกาลที่ 5 และเริ่มให้ลูกหลานกลุ่มคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน จนได้เป็นข้าราชการในกระทรวงหรือกรมต่างๆ ทำให้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มชนชั้นนำของประเทศที่มาจากกลุ่มฐานรากขยับสถานะขึ้นเป็นชนชั้นนำ และเน้นย้ำว่า ต้องมองเห็นจุดสำคัญจุดนี้ มองว่าสังคมไทยมีศักยภาพในการผลิตคนชนชั้นล่างให้ขยับฐานะทางสังคมได้ และมองว่าแม้จะเป็นคนจน หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลต่างก็เป็นคนที่มีคุณภาพได้ถ้าได้รับโอกาส
“งานของกระทรวง อว. ต้องมองเรื่องการสร้างการศึกษาและการอบรมให้คนเกิดการขยับสถานะทางสังคมให้สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจน ต้องออกแบบหลักสูตรที่อาจไม่ต้องเน้นปริญญาบัตร แต่เน้นให้เกิดการสร้างอาชีพ หรือทักษะ อาทิ การพัฒนาคนให้เป็นนักวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์ พยาบาล อีกทางหนึ่งคืออาชีพที่สร้างรายได้ แต่ไม่ต้องอาศัยความรู้ทางเทคนิคมากนัก อย่างกลุ่มช่างซ่อมรถ หรือการสร้างกลุ่มอาชีพทางด้านศิลปะ สุนทรียะ เป็นต้น และส่วนสุดท้ายที่อยากส่งเสริมที่สุดคือการสร้างให้เขาได้เป็นผู้ประกอบการ โดยการศึกษาจะต้องไม่เน้นที่ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นที่การเปลี่ยนแนวความคิดให้กลุ่มคนเหล่านี้ภูมิใจว่าเขาเป็นคนเก่ง มีความสามารถและยังมีโอกาสที่ดีรออยู่ ทำให้เกิดเป็นอาวุธทางความคิด ให้เขามีแง่คิดดีๆ ในชีวิต ใช้ความยากจนเป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดความพยายาม เพื่อเป็นการสร้างแรงกระตุ้น สร้างแรงบันดาลใจให้เขา ขณะเดียวกันก็ต้องมีการสนับสนุนให้คนที่มีความสามารถได้รับการผลักดันขึ้นเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ” ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก กล่าว
นอกจากนี้ ศาสตราจารยพิเศษ ดร. เอนก ยังได้เสนอให้มีการตั้งสมาคมคนเคยลำบาก ที่สามารถขยับสถานะขึ้นมาเป็นชนชั้นนำได้ เพื่อมาช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยงคนที่อยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเสนอให้มีโครงการ To Be New Entrepreneur สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่ที่เติบโตมาจากกลุ่มคนยากไร้ ซึ่งอาจจัดให้มีการมอบรางวัลให้กับกลุ่มนี้เพื่อเป็นกำลังใจเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่อยู่สภาวะเดียวกันได้มีแรงสู้และก้าวขึ้นมาให้อยู่ในจุดที่ประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้นำเสนอข้อมูลมาตรการและกลไก อววน. เพื่อการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์กลุ่มประชากรกลุ่มฐานรากในประเทศไทย ซึ่งกลุ่มที่ยากจนที่สุด มีรายได้เฉลี่ย 2,762 บาทต่อคนต่อเดือน มีจำนวน 15 ล้านคน ในกลุ่มนี้เป็นเด็กและเยาวชน 3.72 ล้านคน วัยทำงาน 7.48 ล้านคน ผู้สูงอายุ 3.89 ล้านคน และประมาณ 1 ล้านคนเป็นผู้พิการ ซึ่งในจำนวนนี้ มากกว่า 90% มีวุฒิการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา และส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตร ป่าไม้ และประมง
จากการศึกษาข้อมูล พบว่า วงจรความยากจนและบั่นทอนศักยภาพของกลุ่มคนฐานราก เกิดจากการส่งต่อความยากจนจากบรรพบุรุษ ที่การขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต เช่น บ้าน ที่ทำกิน ไม่ได้รับการศึกษา หรือได้รับการศึกษาที่จำกัด ปัญหาสุขภาวะ ส่งผลให้ขาดทักษะในการทำงาน ต้องประกอบอาชีพที่ใช้ทักษะต่ำและทำให้มีรายได้ต่ำไปด้วย ซึ่งการขยับสถานะของประชากรในกลุ่มฐานรากให้พ้นจากวงจรข้างต้นนั้น ควรมีการจัดสวัสดิการและการยอมรับทางสังคม นำไปสู่โอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขและปัจจัยพื้นฐานที่ดีขึ้น สร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพที่กว้างขึ้น เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอุดมศึกษา และเพิ่มพูนทักษะ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงอาชีพที่ใช้ทักษะกลางไปถึงทักษะสูง และทำให้มีรายได้ที่สูงขึ้น
โดยแนวทางเบื้องต้นในการขยับสถานะทางสังคมของประชากรกลุ่มฐานราก ได้มองเป็น 3 แนวทาง คือ 1. การเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนฐานราก ผ่านการค้นหาช้างเผือก การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มด้อยโอกาส และเพิ่มโอกาสให้เด็กพิการ 2. การรักษาคนให้อยู่ในระบบ ทั้งระดับมัธยมปลาย ปวช. ระดับอุดมศึกษา และการพัฒนารูปแบบพิเศษ โดยการจัดโครงการสนับสนุนต่างๆ อาทิ ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานระหว่างเรียนเพื่อพัฒนาทักษะไปสู่ความมั่นคงทางอาชีพ และลดข้อกังวลเรื่องปากท้อง และการให้แรงจูงใจภาคเอกชนในการจ้างงานเพื่อกระตุ้นการจ้างงานผู้พิการที่มีความสามารถระหว่างเรียน เป็นต้น และ 3. การต่อยอดโอกาสสู่การขยับสถานะทางสังคม อาทิ การเพิ่มโอกาสการเป็นผู้ประกอบการ โดยเชื่อมต่อการเข้าถึงศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการท้องถิ่น การพัฒนาอาชีพ เช่น กลุ่มศิลปิน Influencer Creator เป็นต้น รวมถึงการส่งเสริมการเข้าสู่ตำแหน่งงานในองค์กรชั้นนำ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ สอวช. ได้จัดทำตัวอย่างมาตรการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานราก โดยมีการตั้งเป้าหมายการขยับสถานะทางสังคมของคน 1,000,000 คน ภายในปี พ.ศ. 2570 แบ่งเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนในครัวครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ของประเทศ ให้ “มีที่เรียน และได้เรียน” โดยมีบัตรสวัสดิการการศึกษา มีการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ได้รับสิทธิ์ โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกำหนดเงื่อนไขการใช้บัตรสวัสดิการฯ เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายสนับสนุนการศึกษา ในกลุ่มวัยทำงาน ใช้แนวทาง Reskill/ Upskill Account เชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ได้รับการพัฒนาทักษะกลุ่มฐานราก เชื่อมโยงกลไกการรับรองหลักสูตรเฉพาะทาง ที่เอื้อต่อการจัดการฝึกอบรมหรือพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะสมต่อแรงงานกลุ่มฐานราก รวมถึงมีมาตรการทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจ และในกลุ่มผู้ประกอบการท้องถิ่น ใช้แนวทางสนับสนุนการมีนวัตกรรม พัฒนากลไกการสนับสนุนทางการเงิน และการบริหารจัดการธุรกิจและตลาด โดยมาตรการข้างต้น ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างวัฒนธรรมและค่านิยมทางสังคมที่ส่งเสริมการขยับสถานะทางสังคม เช่น ความกตัญญู ความช่วยเหลือสังคม และความเชื่อในความสามารถของคน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นที่หลากหลายในประเด็นข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษที่ต่างไปจากการจัดการศึกษาแบบเดิม เช่น การจัดการศึกษาแบบ Sandbox โรงเรียนนอกเวลา การเรียนออนไลน์ หรือ non-degree program ที่สำคัญจะต้องมีการทำงานอย่างบูรณาการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมกับกระทรวงอื่นๆ โดยมองให้เห็นภาพรวมการพัฒนาคนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ นอกจากนี้ในแง่มุมของความเหลื่อมล้ำในสังคม ยังต้องวิเคราะห์ให้เข้าใจถึงความซับซ้อน รวมถึงอุปสรรคและแนวทางที่จะเข้าไปสนับสนุน หรือสร้างโอกาสทางการศึกษาของเด็กแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นด้วย รวมถึงได้เน้นย้ำบทบาทของ อว. ที่จะช่วยเข้าไปหนุนเสริมในเรื่องของการให้ความรู้ การศึกษา หลักสูตรการอบรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขยับสถานะประชากรกลุ่มฐานรากของไทยได้เป็นอย่างดี